จาก Auto IP:61.90.149.126
อังคารที่ , 19/8/2551
เวลา : 21:22
อ่านแล้ว = ครั้ง
เก็บเข้ากระทู้ส่วนตัว
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
|
ค่ายรถญี่ปุ่นขู่ล้ม'อีโคคาร์'
รถยนต์อี 85 ส่อแววสะดุด สรรพสามิต- กระทรวงอุตฯ เห็นแย้งก.พลังงานเสนอให้ลดภาษีสรรพสามิตลงมาอีก 5 % โยนกพช.ชี้ขาดปลายเดือนนี้ ส่วนจะมีรถยนต์นำเข้าหรือไม่ ต้องรอลุ้นครม.อนุมัติลดอากรขาเข้าเหลือ 60 % ปั๊มน้ำมันแบกรับภาระหลังแอ่นแน่หลังเปิด 30 แห่งรองรับรถเพียงเล็กน้อย ค่ายรถยนต์ขู่ล้มอีโคคาร์ ติงรัฐจะเอายังไงบอกมาให้ชัด
นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงความคืบหน้าในมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 85 ว่า ทางกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดเห็นหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการใช้อี 85 เพิ่มเติม หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติมาตรการส่งเสริมโดยการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์อี 85 ลงเหลือ 25 % เพื่อนำข้อสรุปทั้งหมดนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2551นี้
ทั้งนี้ จากการหารือของแต่ละหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพลังงาน กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร บริษัทน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน และกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตรถยนต์ มีความเห็นที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะกรณีที่กระทรวงพลังงานเสนอให้มีการปรับลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์อี 85 จาก 25 % เหลือ 20 % เท่ากับรถยนต์เอ็นจีวี เพื่อเป็นการจูงใจให้เกิดการผลิตรถยนต์อี 85 นั้น ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเกรงว่าจะไปกระทบกับโครงสร้างการผลิตรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์อีโคคาร์ ที่ได้ผลักดันให้เกิดการลงทุนไปแล้ว ซึ่งจะทำให้ภาษีต่ำลงมาใกล้เคียงกับรถยนต์อีโคคาร์ ที่กำหนดไว้ 17 %
นอกจากนี้ทางกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ โดยเฉพาะค่ายญี่ปุ่น มีความเห็นว่า ยังไม่มีความพร้อมที่จะผลิตรถยนต์อี 85 ออกมา เพราะได้มีการลงทุนผลิตรถยนต์อีโคคาร์ไปแล้ว เป็นมูลค่า 1 แสนล้านบาท หากมีนโยบายจูงใจผลิตรถยนต์อี 85 ออกมาอีก ก็จะกระทบกับยอดการจำหน่ายรถยนต์อีโคคาร์ในประเทศได้
ในขณะที่กรมสรรพสามิตมองว่า หากลดภาษีลงอีก 5 % จะกระทบกับรายได้ของกระทรวงการคลังที่หายไป ซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้มีการเสนอไปว่า หากเกรงว่าจะกระทบกับรายได้ ก็ขอให้ลดภาษีลงมาเหลือ 22-23 % ได้หรือไม่ แต่ทางกรมสรรพสามิต มองว่าจะทำให้เกิดชั้นการเก็บภาษีที่มีมากเกินไปในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ จึงไม่เห็นด้วยต่อการปรับลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์อี 85 ลงมา
นายพรชัย กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่กระทรวงพลังงาน ได้ขอให้ทางกรมศุลกากร ลดอากรนำเข้ารถยนต์อี 85 จากปัจจุบันที่จัดเก็บ 80 % ให้ลงมาเหลือ 60 % เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อจูงใจให้มีการนำเข้ารถยนต์ และสร้างตลาดในช่วงแรกนั้น ทางกรมศุลกากรขอให้เป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรีที่จะเป็นผู้พิจารณา
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เวลานี้มาตรการส่งเสริมการใช้อี 85 ติดปัญหาแค่เรื่องกรมสรรพสามิตไม่ยอมที่จะปรับลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์อี 85 ลงมาเหลือ 20 % และการลดอากรนำเข้ารถยนต์อี 85 ยังต้องรอให้ครม.ชี้ขาด เท่านั้น ซึ่งในการประชุมกพช.ที่จะมีขึ้นปลายเดือนสิงหาคมนี้ ทางกระทรวงพลังงานจะเสนอความคิดเห็นถึงผลดีผลเสียให้ที่ประชุมพิจารณา เพื่อนำเข้าสู่การตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีว่าจะเดินต่ออย่างไร หากไม่มีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวนี้ ทุกอย่างก็จะหยุด และทางกระทรวงพลังงานคงต้องหันมาพิจารณาเองว่าจะเดินหน้าต่อในเรื่องอี 85 อย่างไร
ส่วนกรณีที่กระทรวงพลังงานได้เสนอให้มีการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์อี 85 ลงอีก 5 % นั้น เนื่องจากมองว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์อีโคคาร์แต่อย่างใด แต่จะเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันอี 85 เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์อีโคคาร์ที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ 6 ราย จำนวน 600,000 คัน โดยจะจำหน่ายในประเทศ 300,000 คันนั้น เชื่อว่าจะไม่ทำการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ออกมาทั้งหมด
เนื่องจากยอดการจำหน่ายรถยนต์เครื่องยนต์เบนซินในประเทศปกติจะประมาณปีละ 100,000 คัน ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่รถยนต์อีโคคาร์จะสามารถจำหน่ายในประเทศไทยได้ทั้งหมด การที่มาบอกว่าหากผลิตรถยนต์อี 85 ออกมาแล้วจะกระทบกับการผลิตรถยนต์อีโคคาร์จึงไม่เป็นความจริง เพราะส่วนใหญ่จะต้องทำการส่งออกอยู่แล้ว
แหล่งข่าว กล่าวย้ำว่า หากกระทรวงพลังงานเสนอความคิดเห็นไปแล้ว ทางครม.ไม่เห็นชอบด้วย คงต้องหันกลับมาดูว่าจะส่งเสริมการใช้อี 85 อย่างไรต่อไป โดยเฉพาะโครงสร้างราคาน้ำมันอี 85 จะต้องมีส่วนต่างจากราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ในสัดส่วนที่เท่าใด ซึ่งในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ ทางกระทรวงพลังงาน จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือในเบื้องต้นก่อน เนื่องจากทางบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)(บมจ.) จะเปิดจำหน่ายน้ำมันอี 85 เป็นรายแรกในวันที่ 29 สิงหาคมนี้ แม้จะยังไม่มีรถยนต์อี 85 มาใช้บริการก็ตาม
โดยส่วนต่างของราคาน้ำมันอี 85 นั้น คาดว่าจะต่ำกว่าน้ำมันเบนซินออกเทน 95 มากกว่า 30 % แต่หลังจากที่ทางรัฐบาลยกเลิกมาตรการ 6 เดือน ที่ปรับลดภาษีน้ำมันแก๊สโซฮอล์แล้ว คาดว่าจะมีการพิจารณาปรับลดภาษีน้ำมันอี 85 ลงอีก 2 บาทต่อลิตร ซึ่งจะทำให้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันอี 85 จัดเก็บเพียง 55 สตางค์ต่อลิตรเท่านั้น และหากกระทรวงการคลังพิจารณาลดอากรขาเข้ารถยนต์อี 85 ได้ด้วย น่าจะทำให้จูงใจพอที่จะทำให้ค่ายรถยนต์นำเข้ารถยนต์อี 85 มาจำหน่ายในประเทศได้ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ตั้งเป้าหมายว่าภายในปีนี้จะมีรถยนต์อี 85 ออกมาวิ่งประมาณ 200 คัน และในปีหน้าจะเพิ่มอีก 800 เป็น 1,000 คัน
นายชัยวัตน์ ชูฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)(บมจ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่บมจ.ปตท.ได้นำเข้ารถยนต์อี 85 วอลโว่ รุ่น เอส 40 มาทดสอบจำนวน 3 คันแล้วนั้น ในวันที่ 29 สิงหาคมนี้ จะทำการเปิดปั๊มน้ำมันบนถนนสายบางนา-ตราดช่วงขาออก เพื่อจำหน่ายน้ำมันอี 85 เป็นแห่งแรก และในเดือนกันยายน จะเปิดอีก 4 แห่ง และภายในเดือนพฤศจิกายน จะครบทั้ง 15 แห่งตามที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายออกมา
สำหรับเหตุผลการเปิดปั๊มจำหน่ายอี 85 นั้น เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและค่ายรถยนต์ที่สนใจจะสั่งรถยนต์อี 85 เข้ามาทำตลาด เพราะหากไม่มีปั๊มบริการแล้วการนำเข้ารถยนต์จะไม่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกบมจ.ปตท.และบมจ.บางจากอาจจะต้องแบกรับภาระจากที่ต้องลงทุนเพิ่มหัวจ่ายอี 85 ถึงแห่งละประมาณ 3 ล้านบาท หรือประมาณ 90 ล้านบาท ที่ต้องลงทุนไปก่อน ซึ่งยังไม่รวมถึงปริมาณน้ำมันอี 85 ที่ต้องระเหยอีกหากจำหน่ายไม่ได้ เพราะเชื่อว่าการนำเข้ารถยนต์อี 85 จะมีไม่มาก เมื่อเทียบกับรถยนต์อี 20 ที่มีการผลิตภายในประเทศ แต่หากไม่ยอมแบกภาระตรงนี้การส่งเสริมการใช้อี 85 คงเกิดขึ้นไม่ได้
นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยถึงท่าทีของค่ายรถยนต์บางรายที่มองว่าภาครัฐยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายพลังงานทดแทน เช่น อี20 อี85 และอีโคคาร์ อาจส่งผลให้ต้องพิจารณาถอนการลงทุนผลิตรถยนต์อีโคคาร์นั้น ในส่วนนี้เป็นสิทธิของผู้ประกอบการทุกรายที่สามารถเลือกได้ว่าจะไปในทิศทางใดตามความถนัดและความเหมาะสม
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และนายกสมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย เปิดเผยว่า ผู้ผลิตรถยนต์เพิ่งลงทุนทำรถยนต์ อี 20 ตามนโยบายของรัฐบาลเมื่อ 1 มกราคมที่ผ่านมา หากจะมาลงทุนทำรถ อี 85 อีก ก็คงกระทบกับการลงทุนที่ผ่านมา ทางสมาคมได้ส่งข้อแนะนำเสนอผ่านหอการค้าญี่ปุ่นไปยังรัฐบาลไทยว่า หากลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์อี 85 เหลือ 20 % จะทำให้ใกล้เคียงกับรถยนต์อีโคคาร์ ที่มีอัตราภาษีที่ 17 % ซึ่งอาจทำให้ผู้ผลิตรถยนต์อีโคคาร์ตัดสินใจล้มโครงการ แล้วหันไปผลิตรถอี 85 ที่ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าแทน
"นโยบายของภาครัฐที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สร้างความสับสนให้กับบริษัทรถยนต์มาก คราวก่อนสนับสนุนให้ลงทุนผลิตรถยนต์ในโครงการอีโคคาร์ ต่อมาเปลี่ยนไปสนับสนุนรถอี 85 อีกทำให้บริษัทรถยนต์ที่ร่วมโครงการอีโคคาร์ 6 ราย ใช้เงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท ได้ชะลอการลงทุนพัฒนารถยนต์อีโคคาร์เพื่อความชัดเจนของรัฐบาลเสียก่อน และอาจถอนการลงทุนสร้างรถอีโคคาร์ หากรัฐบาลลดภาษีรถอี85 ลงมาใกล้เคียงอีโคคาร์ "
เช่นเดียวกับนายเทียรี่ เวียดิว กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยาม นิสสัน ออโตโมบิล จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์นิสสันซึ่งเป็นอีกค่ายหนึ่งที่ร่วมผลิตรถอีโคคาร์ และดำเนินการมาได้ระยะหนึ่ง ใช้เงินลงทุนไปแล้วกว่า 5,000 ล้านบาท กล่าวว่า กำลังอยู่ในช่วงของการตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อหรือยุติโครงการนี้ดี เพราะขั้นตอนต่อไปจะเริ่มใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และมีความยุ่งยากมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนารถให้มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันที่ 20 กม./ลิตร และให้มีมาตรฐานไอเสียระดับยูโร 4 ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก
"ภาครัฐควรกำหนดนโยบายด้านพลังงานให้มีความชัดเจนมากกว่านี้ เพราะปัจจุบัน ผู้บริโภคกำลังสับสนกับการใช้พลังงานทางเลือกใหม่ ซึ่งมีทั้งน้ำมันอี 20 ก๊าซซีเอ็นจี ก๊าซแอลพีจี ไบโอดีเซล แต่ที่ผ่านมา มีนโยบายให้ผลิตรถ อี 20 แต่สถานีบริการน้ำมันกลับมีน้อยมาก ไม่กระจายตามพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ เมื่ออี 20 ยังไม่แพร่หลาย กลับสนับสนุนผลิตรถอี 85 ขึ้นอีก"
ขณะที่นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด สำนักงานใหญ่ของฮอนด้า ประจำภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย กล่าวว่า หากภาครัฐลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์อี 85 ลงอีก5 %จริง จะส่งผลกระทบกับโครงการอีโคคาร์อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ฮอนด้ายังเดินหน้าโครงการอีโคคาร์ โดยอยู่ระหว่างการพัฒนารถที่มีความเหมาะสม ตามเงื่อนไขด้านอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ 20 กม./ลิตร และมาตรฐานไอเสียระดับ ยูโร 4 ส่วนจะยกเลิกโครงการนี้หรือไม่ ขึ้นกับบริษัทแม่
"ค่ายรถยนต์ได้รวมกลุ่มในนามของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาล กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน เพื่อแสดงความห่วงใยต่อปัญหานโยบายของภาครัฐที่ไม่มีความชัดเจน จึงขอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานให้เป็นแนวทางเดียวกัน"
http://www.thannews.th.com/detialNews.php?id=T0123493&issue=2349
|