จาก Auto IP:202.80.239.130
เสาร์ที่ , 12/5/2555
เวลา : 10:17
อ่านแล้ว = ครั้ง
เก็บเข้ากระทู้ส่วนตัว
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
|
บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
การต่อสู้ในเชิงเหตุผลในเรื่องราคาพลังงานยังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลางความสงสัยว่าทำไมราคาพลังงานของไทยถึงได้มีหลายมาตรฐาน !!!?
ถ้าเป็นค่าภาคหลวงของพลังงานไทย ไม่ยึดตลาดโลก แต่กลับจะเป็นราคาต่ำติดดินระดับโลก
แต่ถ้าเป็นราคาน้ำมันขายปลีกของไทยก็บอกว่าจะต้องยึดราคาตามกลไกตลาดโลก แต่พอมีคนจับได้ว่าหลายปีที่ผ่านมาเมื่อราคาน้ำมันตลาดโลกมีราคาลดลงแต่ราคาน้ำมันไทยกลับมีราคาที่สูงขึ้น ดังกรณีความผิดปกติที่ มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามพลังงานมาอย่างใกล้ชิดได้ตั้งข้อสังเกตของราคาน้ำมัน 2 ช่วงเวลาดังนี้
พ.ศ. 2551 ราคาน้ำมันดิบที่เวสต์เท็กซัส อยู่ที่ 145 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล คิดอัตราแลกเปลี่ยนที่ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จึงสามารถคิดราคาต้นทุนน้ำมันดิบได้ที่ 30.09 บาทต่อลิตร ในปีนั้น ราคาน้ำมันเบนซิน 91 อยู่ที่ 42.50 บาท
เดือนมีนาคม พ.ศ.2555 ราคาน้ำมันดิบที่เวสต์เท็กซัสลดลงมาเหลืออยู่ที่ 105 เหรียญต่อบาร์เรล นอกจากนั้นในช่วงเวลานั้นค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากเป็น 30.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย ทำให้ต้นทุนราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 20.14 บาท แต่ราคาน้ำมันเบนซิน 91 ก็อยู่ที่ 42.58 บาท อยู่ดี
ประเด็นนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่าทำไมราคาน้ำมันของไทยจึงไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาดโลกอย่างที่กล่าวอ้างกัน?
ที่เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้เพราะการประกาศขึ้นราคาและลดราคาน้ำมันในประเทศไทยนั้น ถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ก็จะมีการประกาศขึ้นราคาโดยทันทีและขึ้นได้มาก ในขณะที่หากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงก็จะลดลงอย่างช้าๆ และอัตราที่น้อยกว่า ด้วยเหตุผลว่ากลัวปั้มน้ำมันที่ขายปลีกจะขาดทุนทันทีจึงต้องลงช้าๆ
พอเป็นแบบนี้หลายๆปีเข้ามันก็เลยเกิดการสะสมราคาในลักษณะ ขึ้นเร็วทันตลาดโลก-ลงช้ากว่าตลาดโลก ด้วยเหตุผลนี้พอเอาตัวเลขข้ามปีมาเปรียบเทียบกันจึงเกิดความไม่สอดคล้องกับราคาตลาดโลกอย่างที่เห็น
ตรรกะแบบนี้ดูจะแปลกอยู่มากเพราะเวลาราคาน้ำมันจะลดลงกลับเป็นห่วงคลังน้ำมันของแต่ละปั้มว่าจะขาดทุน แต่เวลาจะขึ้นราคากลับไม่ห่วงว่าประชาชนจะต้องซื้อน้ำมันแพงกว่าคลังน้ำมันของปั้มน้ำมันที่มีอยู่เดิม!!!
ความจริงข้ออ้างนี้เป็นข้ออ้างที่เอาผู้ประกอบการปั้มน้ำมันมาบังหน้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่ถือมีคลังน้ำมันมากที่สุดก็คือบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ทั้งโรงกลั่น และกลุ่มบรรษัทที่เข้าน้ำมันดิบต่างหากที่จะได้ประโยชน์สูงสุดในการที่ทำให้ราคาน้ำมันลดลงช้ากว่าตลาดโลกและเพิ่มขึ้นเร็วทันตลาดโลกมาโดยตลอด
นอกจากนี้ทุกวันนี้สิงคโปร์เป็นประเทศกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นของไทยไปโดยปริยาย โดยข้ออ้างในเหตุผลที่ว่า:
ถ้าไทยราคาต่ำไปกว่าที่สิงคโปร์พ่อค้าคนกลางจะมาแห่ซื้อน้ำมันหมดจากโรงกลั่นไทย นั่นหมายความว่าเรากลัวว่าจะขายได้ไม่พอกับความต้องการ เพราะกลัวคนมาซื้อจากโรงกลั่นไทยจำนวนมากแล้วไปส่งออก จึงต้องปรับราคาให้เพิ่มขึ้นตามสิงคโปร์
แต่ถ้าไทยราคาสูงไปกว่าที่สิงคโปร์ พ่อค้าคนกลางจะมาแห่ซื้อน้ำมันจากสิงคโปร์เพื่อนำเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก ทำให้ราคาในประเทศไทยสู้ไม่ได้ จึงต้องปรับราคาให้ลดลงตามสิงคโปร์
นั่นหมายความว่าไม่ว่าราคาต้นทุนโรงกลั่นของไทยจะเป็นอย่างไร ก็จะยึดถือราคาที่สิงคโปร์เป็นหลัก ไม่ว่าราคานั้นจะสมเหตุสมผลหรือไม่ก็ตาม โดยไม่สนใจต้นทุนที่แท้จริง ใช่หรือไม่?
และถ้าโรงกลั่นที่สิงค์โปร์รับรู้ว่าประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ ยึดหลักที่ว่าต้องปรับราคาอ้างอิงตามสิงคโปร์ เพียงเท่านี้ก็แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่กลไกตลาดปกติ แต่เป็นกลไกกำหนดโดยสิงคโปร์เท่านั้น ดังนั้นหากสิงคโปร์ต้องการทำกำไรอย่างมหาศาลจากการกลั่นก็จะสามารถขึ้นราคาได้ตามอำเภอใจโดยปราศจากการแข่งขัน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือประเทศไทยยอมฮั้วกับการขึ้นราคาที่สิงคโปร์ ใช่หรือไม่?
ความจริงแล้วถ้าฮั้วให้เท่าราคากับสิงคโปร์ก็น่าจะสร้างความสงสัยให้กับประชาชนอยู่แล้ว แต่ดูเหมือนว่าจะมีข้อที่น่าสังเกตมากกว่านั้น
โดยคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้จัดทำเอกสาร เรื่อง พลังงานไทย
พลังงานใคร? ได้อธิบายเรื่องดังกล่าวความตอนหนึ่งว่า:
ความมั่นคงของคนไทยมีมูลค่าปีละกว่าแสนล้านบาทที่ผู้บริโภคต้องควักกระเป๋าจ่ายให้โรงกลั่นน้ำมัน... เราต้องซื้อน้ำมันในราคาที่แพงกว่าที่คนสิงคโปร์ซื้อจากประเทศไทย สูตรราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นที่คนไทยต้องจ่ายเป็นแบบนี้
ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ + ค่าโสหุ้ยน้ำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์
= ราคาหน้าโรงกลั่นไทย
ทั้งนี้ค่าโสหุ้ยดังกล่าวประกอบไปด้วย ค่าคนส่ง+ค่าสูญเสียระหว่างขนส่ง+ค่าประกันภัย+ค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน
สมมุติว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์อยู่ที่ 20 บาท และค่าโสหุ้ยนำเข้าจากสิงคโปร์อยู่ที่ 2 บาท คนไทยต้องจ่ายค่าน้ำมันหน้าโรงกลั่น 22 บาท ในขณะที่คนสิงคโปร์จะซื้อน้ำมันได้ในราคา 20 บาท
การที่บวกค่าโสหุ้ยเหล่านี้เข้าไปนี่แหละ ที่ทำราคาขายในประเทศต้องสูงขึ้น ทั้งๆที่กลั่นอยู่ในกรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง นี่เอง พูดง่ายๆก็คือเงินที่โรงกลั่นบวกเพิ่มนั้นเป็นเหมือน เงินกินเปล่า หรือเป็น กำไร ร้อยเปอร์เซ็นต์ของโรงกลั่น เนื่องจากไม่ได้มีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปมาจริง
โรงกลั่นอยากขายน้ำมันในประเทศมากกว่า เพราะขายได้ลิตรละ 22 บาท แต่ถ้าขายสิงคโปร์จะได้แค่ 18 บาท เพราะต้องจ่ายค่าขนส่งเองอีก 2 บาท
นอกจากคนไทยต้องซื้อน้ำมันที่ราคาแพงแล้ว โรงกลั่นยังส่งออกน้ำมันไปขายต่างประเทศด้วยราคาที่ถูกกว่าที่ขายให้คนไทยเสียอีก
ก็เวลาขายคนไทย ราคาน้ำมันจะเป็นราคาหน้าโรงกลั่นบวกด้วย ค่าโสหุ้ยต่างๆที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่เมื่อโรงกลั่นไทยเหล่านี้ต้องขายน้ำมันส่งออกไปสิงคโปร์ กลับต้องหักค่าโสหุ้ยออก เพื่อให้เป็นราคาตลาดโลกที่แท้จริง จึงสามารถแข่งขันได้
ดังนั้นราคาที่เขาขายคนไทยจึงเป็นราคาตลาดเทียมภายใต้การสมยอมของภาครัฐที่ยอมให้โรงกลั่นไทย บวกค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่เกิดขึ้นจริงให้คนไทยต้องรับภาระไปเสียนี่
เพราะฉะนั้นจะว่าไปแล้วรัฐบาลจึงเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ คนไทยต้องจ่ายแพง ทั้งๆที่ในความเป็นจริงประเทศไทยสามารถกลั่นน้ำมันได้มากกว่าความต้องการของคนไทยมากว่า 11 ปีแล้ว
ก็เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับธุรกิจเอกชนมากกว่าผลประโยชน์ของคนไทยน่ะสิ โดยอ้างว่าต้องให้แรงจูงใจกับโรงกลั่นเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน ด้วยการหยิบยื่นข้อเสนอว่าเมื่อกลั่นน้ำมันในประเทศ จะสามารถขายได้ราคาเหมือนน้ำมันนำเข้าจากต่างประเทศ
ถ้าเป็นตอนเริ่มต้นสร้างโรงกลั่นก็พอจะรับกันได้ แต่ตอนนี้โรงกลั่นส่งออกน้ำมันเท่ากับบางประเทศในกลุ่มโอเปก มีรายได้มากกว่าส่งออกข้าว แต่รัฐบาลยังอ้างว่าต้องให้แรงจูงใจ
เพราะฉะนั้น ที่ว่าน้ำมันลอยตัวตามราคาตลาดโลก เป็นกลไกของการค้าเสรี ก็เป็นเรื่องไม่จริงใช่ไหม อย่างนี้ควรจะเรียกว่ารัฐบาลอนุญาตให้โรงกลั่นมีเสรีภาพในการผูกขาดจะดูเข้าท่ามากกว่า
ที่น่าสนใจราคาพลังงานขึ้นสูงมากขนาดนี้แล้ว คนไทยก็ยังอยู่ได้ ไม่ทุกข์ร้อนใดๆ สังคมไทยจึงต้องเผชิญสภาพข้าวยากหมากแพงอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ !!!
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000058328
|