คำตอบที่ 1
http://www.vroverland.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538851864&Ntype=2
การ "บวกค่าอะไหล่" การโกงของอู่ที่ยากแก้ไข
การซ่อมรถตามอู่ทั่วไป ส่วนใหญ่จะใช้อะไหล่ทดแทนเทียมจากร้านอะไหล่และให้อู่จัดซื้อ แล้วมาเก็บเงินพร้อมค่าแรง มีกลโกงของอู่กับการบวกค่าอะไหล่เกินจริง หลายคนพอจะทราบ แต่ทำใจจ่ายเงินได้ แต่มีบางคนเท่านั้นที่ต้องโวย เพราะถูกบวกเกินเป็นเท่าหรือหลายเท่าตัว แวดวงอู่ซ่อมรถในไทย กับการบวกค่าอะไหล่ กลายเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ไม่ปกติและควรขจัดให้หมดไป แต่ในความเป็นจริงก็พอจะสรุปได้ว่า ไม่มีวันหมด และยากแก้ไข อ่านเรื่องราวและเหตุผลที่ทำให้เป็นเช่นนั้น
++การให้อู่ซื้ออะไหล่ให้ เป็นสาเหตุสำคัญ++
เจ้าของรถส่วนใหญ่ ไม่มีความรู้เรื่องรถลึกพอจะจัดซื้ออะไหล่ให้อู่ได้ หรือถึงจะได้ แต่มักไม่มีเวลาเดินทางไป-มาเพื่อซื้ออะไหล่ อู่เองก็ขาดความคล่องตัวและเสียเวลาในการทำงาน ถ้าเมื่อถอดชิ้นส่วนออกมาดูแน่แล้วว่าเสีย แต่ต้องรอลูกค้าซื้ออะไหล่ให้ การอู่จัดซื้อให้จะสะดวกกว่า เพราะมีการซื้อ-ขายกับร้านอะไหล่กันมานานแล้ว บางครั้งโทรศัพท์สั่งก็ได้ และอู่ก็มีความเชี่ยวชาญในการเลือกอะไหล่ (ถ้าสุจริตใจ)
นับเป็นเรื่องปกติที่การซ่อมรถในอู่กว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนลูกค้าจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของอู่ในการจัดซื้ออะไหล่ จึงเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการบวกราคาค่าอะไหล่อย่างง่ายดาย ใบเรียกเก็บเงินค่าอะไหล่กับลูกค้า มี 2 แบบ คือ ใบเสร็จจากร้านอะไหล่ หรือใบเสร็จค่าอะไหล่รวมค่าแรงที่ออกโดยอู่ ง่ายทั้ง 2 แบบที่จะลงราคาอะไหล่เกินจริง เพราะอู่ก็คุ้นเคยอยู่กับร้านอะไหล่ๆ เองก็ทราบวงจรการโกงนี้อยู่แล้ว
++ความโลภ และลดตัวเลขค่าแรง++
เงิน ใครๆ ก็อยากได้ ยิ่งโกงง่ายก็ยิ่งทำให้คนดีกลายเป็นคนโกงได้ง่ายตามไปด้วย ทางอู่เห็นว่าการจัดซื้ออะไหล่ให้ ควรมีค่าจัดซื้อหรือค่าเสียเวลาบ้าง แต่ในเมื่อไม่สามารถแยกรายการเก็บเงินกับลูกค้าได้ จึงรวบรัดบวกเข้าไปในค่าอะไหล่ แต่ก่อนบวกกันห้าสิบบาทร้อยบาท หรือห้าเปอร์เซ็นต์สิบเปอร์เซ็นต์ต่อชิ้น ก็สมเหตุสมผลแล้ว เพราะอาชีพช่าง คือ ขายแรงงาน รับเงินจากค่าแรงค่าฝีมือ
บวกเล็กบวกน้อยมาเรื่อยๆ เมื่อลองเพิ่มการบวก ลูกค้าก็จับไม่ได้ หรือไม่สนใจจะจับผิด บวกกับความโลภ ต่อมาอู่ก็บวกค่าอะไหล่ตามอำเภอใจ ไม่มีเปอร์เซ็นต์แน่นอน (บางอู่บวกมาก-น้อยตามความอยากใช้เงินในช่วงเวลานั้น) โดยจะเดาดูว่าอะไหล่ชิ้นนั้นซื้อมาในราคาถูกมากไหม และคิดต่อไปว่าคนส่วนใหญ่จะคิดว่าเป็นชิ้นที่มีราคาแพงหรือไม่ ถ้าซื้อมาถูก แล้วใครๆ ชอบมองว่าชิ้นนี้น่าจะแพง ก็จะบวกราคามาก แต่ถ้าซื้อมาแพงและดูเป็นอะไหล่พื้นๆ ก็จะบวกราคาแค่เล็กน้อย
หากเป็นรถยี่ห้อแพงดูหรู เช่น เบนซ์ ถ้าบังเอิญว่าซื้ออะไหล่มาราคาถูก ก็จะบวกราคาเข้าไปเต็มเหยียด เพราะลูกค้าเองก็คิดว่าอะไหล่เบนซ์จะต้องแพง ถ้าบวกน้อยแล้วราคายังต่ำ ลูกค้าอาจจะโวยวายได้ว่าซื้ออะไหล่คุณภาพต่ำมาให้ โดยสรุปก็คือ การบวกค่าอะไหล่น่าจะเพิ่มแค่เล็กน้อย ถือเป็นค่าอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า แต่เมื่อไม่มีใครจับได้ผสมกับความโลภ ก็จะบวกกันมากขึ้นจนสูงเท่าที่ลูกค้าจะไม่สงสัย
บางอู่บวกค่าอะไหล่ไว้มาก จึงใช้วิธีดึงดูดลูกค้าด้วยการคิดค่าแรงไม่แพง หรือต่ำกว่าปกติเล็กน้อยด้วยซ้ำ เช่น จริงๆ ควรคิดค่าแรง 1,500 บาท ก็คิดค่าแรงแค่1,000 บาท แต่ได้กำไรจากการบวกค่าอะไหล่อีกเป็นพันบาท ลูกค้าส่วนใหญ่เห็นค่าแรงถูกๆ ก็ชอบ ทำให้บางอู่ที่คิดค่าแรงตามจริง แต่บวกค่าอะไหล่น้อยหรือไม่บวกเลย ถูกลูกค้ามองว่าคิดค่าแรงแพง ไม่น่าเข้าไปทำ จึงทำให้หลายอู่ที่ซื่อสัตย์ต้องทำตาม คือ บวกค่าอะไหล่ไว้เพียบ แล้วจูงใจด้วยค่าแรงถูก อีกประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดการบวกอะไหล่ก็คือ ความง่ายในการโกงแค่เขียนตัวเลขเท่านั้น