จาก Auto IP:61.90.149.126
พฤหัสบดีที่ , 26/6/2551
เวลา : 20:16
อ่านแล้ว = ครั้ง
เก็บเข้ากระทู้ส่วนตัว
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
|
ค่ายรถแห่ลุย NGV ผู้ใช้เฮทางเลือกเพิ่ม
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 26 มิถุนายน 2551 11:32 น.
ข่าวในประเทศ - ปัญหารุมกระหน่ำผู้ใช้รถ หนีพิษน้ำมันแพงหันไปติดตั้งระบบใช้เชื้อเพลิงแอลพีจี และเอ็นจีวี กลับเจอกับสภาวะอุปกรณ์ติดตั้งอย่างถังก๊าซขาดตลาด และราคาปรับเป็นเท่าตัว ทำให้ค่ายรถหลายยี่ห้อสบช่อง เข็นรถยนต์ที่ติดตั้งเอ็นจีวี หรือซีเอ็นจีจากโรงงาน แนะนำสู่ตลาดเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค
เริ่มจากกรกฎาคมนี้ ฮุนได เล็งเปิดตัว โซนาตา ซีเอ็นจี เป็นโมเดลแรกในกลุ่มเก๋งขนาดกลาง ขณะที่เก๋งคอมแพกต์มีให้เลือกเพิ่มเช่นกัน เมื่อ มิตซูบิชิ หลังได้รับรองจากบริษัทแม่ในเดือนกันยายนนี้ ก็จะทำการรุกเต็มที่กับรุ่น แลนเซอร์ เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ด้านยักษ์ใหญ่ โตโยต้า ประเดิมของตายกับแท็กซี่ ลิโม่ โฉมใหม่ปลายปีนี้ ส่วนรุ่นรถบ้าน โคโรลล่า อัลติส รอดูเสียงตอบรับจากลิโม่ก่อน เหตุราคาแพงกว่าไปติดตั้งตามอู่
ฮุนได โซนาต้า
ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง บีบให้ผู้ใช้รถต้องแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ เพื่อลดภาระค่าครองชีพอย่างเร่งด่วน ดังนั้นจึงเกิดปรากฏการณ์ประชาชนผู้ใช้รถแห่นำรถยนต์ไปปรับเปลี่ยนระบบใช้ก๊าซแอลพีจี (LPG) และเอ็นจีวี (NGV หรือเรียกอีกชื่อ CNG) ซึ่งจากเดิมช่วงราคาน้ำมันยังไม่พุ่งสูงแตะ 40 บาทต่อลิตร หรือในปีที่ผ่านมามีผู้นำรถไปติดตั้งระบบใช้เชื้อเพลิงเอ็นจีวีเฉลี่ยเพียง 20-30 คันต่อวันเท่านั้น แต่ปัจจุบันพุ่งสูงเป็นกว่า 300 คันต่อวัน หรือประมาณ 10,000 คันต่อเดือน
นี่จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาถังบรรจุก๊าซขาดตลาด และราคายังปรับตัวขึ้นเป็นเท่าตัว จนหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบต้องออกมาตรวจสอบราคาต้นทุนจริง และไม่เพียงถังก๊าซที่ราคาขยับขึ้นเท่านั้น ในส่วนของเครื่องยนต์เบนซินตามร้านเชียงกง ที่บรรดารถตู้หรือปิกอัพนำมาวางแทนเครื่องยนต์ดีเซลที่ติดมากับรถ เพื่อเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงแอลพีจี หรือเอ็นจีวี โดยเฉพาะเครื่องยนต์โตโยต้า ตระกูล JZ ที่นิยมกัน เดิมราคากว่าหมื่นบาทไม่เกินสองหมื่นบาท ปัจจุบันราคาปรับทะลุ 50,000 หมื่นบาทไปแล้ว
ผลจากปัญหาถังขาดตลาดและราคาปรับตัวขึ้น จึงทำให้ต้นทุนของผู้ใช้รถที่จะติดตั้งแอลพีจี หรือเอ็นจีวีพุ่งสูงขึ้นมาก และโดยเฉพาะผู้ที่จะต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ด้วยแล้ว ต้องใช้เงินร่วมแสนบาทในการติดตั้ง ซึ่งทำให้ไม่แน่ว่าค่าใช้จ่ายที่ประหยัดจากราคาก๊าซเอ็นจีวีที่ถูกกว่าน้ำมัน เทียบกับต้นทุนค่าติดตั้งจะคุ้มหรือไม่?
ออพตร้า ซีเอ็นจี ยังทำยอดขายเป็นกอบเป็นกำ ขณะเดียวกันผู้บริโภคแห่นำรถไปติดระบบซีเอ็นจี-แอลพีจี จนถังบรรจุก๊าซขาดตลาด ราคาพุ่งเป็นเท่าตัว
อย่างไรก็ตาม ราคาของก๊าซเอ็นจีวีที่ถูกสุดในปัจจุบัน โดยอยู่ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เป็นเชื้อเพลิงที่ผู้ใช้รถให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ค่ายรถหลายรายเริ่มมาให้ความสนใจผลิตรถยนต์ใช้ก๊าซเอ็นจีวี หรือซีเอ็นจีจากโรงงานเลย เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค จากปัจจุบันที่มีเพียงแค่เชฟโรเลต และเมอร์เซเดส-เบนซ์เท่านั้น
เริ่มจากค่าย มิตซูบิชิ ที่ได้มีการนำร่องขายเก๋ง มิตซูบิชิ แลนเซอร์ เอ็นจีวี ในรูปแบบดีลเลอร์ออปชั่น หรือเป็นการติดตั้งจากโชว์รูมสำหรับลูกค้าที่ต้องการ ซึ่งปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้า จนทำให้มิตซูบิชิตัดสินใจเตรียมรุกตลาดอย่างเต็มที่ หลังจากได้การรับรองจากบริษัทแม่ประเทศญี่ปุ่นในเดือนกันยายนนี้ โดยจะแนะนำในรุ่นเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร และมีราคาเท่ากับรุ่นปกติที่ขายอยู่ขณะนี้ โดยคาดหวังยอดขายประมาณ 100-200 คันต่อเดือน
อีกค่ายน้องใหม่ ทาทา ประกาศชัดมาตั้งแต่งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2008 แล้วว่า ช่วงปลายปีนี้จะแนะนำปิกอัพเครื่องยนต์ 2.1 ลิตรใช้ก๊าซเอ็นจีวี 100% สู่ตลาดไทย ซึ่งจะไม่ใช้สองระบบทั้งน้ำมันและเอ็นจีวีเหมือนกับที่นิยมกันในปัจจุบัน เพราะสามารถรีดสมรรถนะของรถออกมาได้เต็มที่มากกว่า จึงเหมาะกับรถที่ใช้งานบรรทุกมากที่สุด
มิตซูบิชิ แลนเซอร์
ส่วนรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงสองระบบ ทาทาแจงว่าเหมาะกับระบบใช้ก๊าซแอลพีจีเท่านั้น ซึ่งแน่นอนบริษัทรถยนต์ไม่ทำออกมาอยู่แล้ว เพราะไม่สอดคล้องกับทิศทางและนโยบายภาครัฐ ที่สำคัญเป็นการเบียดบังเอาเปรียบภาคครัวเรือนเกินไป
ล่าสุดที่จะลุยรถยนต์ใช้ก๊าซเอ็นจีวีอีกราย เห็นจะเป็นค่ายรถจากแดนกิมจิ ฮุนได เพราะมีรายงานข่าวว่า ในเดือนกรกฎาคมนี้ฮุนไดเตรียมจะแนะนำเก๋งรุ่นโซนาตา ซีเอ็นจี สู่ตลาดไทยเป็นโมเดลแรกในกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นการติดตั้งระบบใช้เชื้อเพลิงซีเอ็นจี หรือเอ็นจีวี ออกจากโรงงานประกอบในไทยเลย เนื่องจากฮุนไดได้มีการผลิตรถซีเอ็นจีในรุ่นโซนาตาอยู่แล้วที่เยอรมนี จึงมั่นใจได้ในการผลิตและความปลอดภัย พร้อมกันนี้ยังรับประกันนาน 3 ปี เช่นเดียวกับรถรุ่นปกติ
แต่การใช้เชื้อเพลิงเอ็นจีวีเพียงอย่างเดียว 100% แน่นอนย่อมต้องมีผลต่อการทำตลาด เพราะปัญหาสำคัญของรถยนต์ที่ใช้เอ็นจีวี คือไม่มีสถานีบริการกระจายรองรับได้เพียงพอ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงต่างจังหวัดที่ไม่อยู่บนถนนเส้นหลักด้วยแล้ว
เกี่ยวกับเรื่องนี้ทาทาเองก็ยอมรับว่าเป็นปัญหา แต่เนื่องจากระยะแรกไม่ได้ตั้งเป้ายอดขายมากมาย โดยมุ่งจับกลุ่มรถที่ใช้งานมีเส้นทางชัดเจน อย่างรถขนส่ง หรือรถโดยสารเล็กเป็นหลักก่อน รอเมื่อปตท.กระจายสถานีบริการครอบคลุมทั่วประเทศในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ถึงจุดนั้นทาทาก็สามารถรุกตลาดได้เต็มที่ ซึ่งเป็นไปตามแผนการขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่มีความแข็งแกร่งมั่นคงในระยะยาว
โตโยต้า อัลติส
แน่นอนเมื่อหลายค่ายเริ่มลุยรถเอ็นจีวี มีหรือที่ยักษ์ใหญ่ โตโยต้า จะยอมปล่อยให้คู่แข่งตีกินฝ่ายเดียว แต่งานนี้โตโยต้ารุกตลาดของตายก่อน นั่นก็คือรถ แท็กซี่ โดยปลายปีนี้จะแนะนำ โตโยต้า ลิโม ที่ติดตั้งระบบเชื้อเพลิงเอ็นจีวีออกจากโรงงานสู่ตลาด
ส่วนสาเหตุที่โตโยต้ายังไม่ยอมปล่อยรถเอ็นจีวีที่เป็นรถบ้าน หรือเก๋งโคโรลล่า อัลติส สู่ตลาดพร้อมๆ กัน เนื่องจากรอดูเชิงผลตอบรับจากกระแสรถแท็กซี่ เพราะราคาของอัลติสรุ่นเอ็นจีวีที่ผลิตออกมาจากโรงงาน ย่อมจะต้องแพงกว่าลูกค้านำรุ่นปกติไปติดตั้งตามอู่ข้างนอกพอสมควร ทำให้โตโยต้าไม่แน่ใจว่าลูกค้าจะให้การตอบรับแค่ไหน?
อย่างไรก็ตาม จากกระแสนิยมรถใช้เชื้อเพลิงเอ็นจีวี และปัญหาถังก๊าซขาดตลาด จนส่งผลให้ราคาปรับขึ้นตามความต้องการของตลาดที่มากขึ้น น่าจะผลักดันให้โตโยต้าเร่งแผนการผลิต โตโยต้า อัลติส ซีเอ็นจี หรือเอ็นจีวีสู่ตลาดเร็วขึ้น ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกิดปีหน้าแน่นอน
ทั้งหมดคือทางเลือกใหม่ของผู้ใช้รถที่อยากจะเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงทดแทนราคาถูก ซึ่งอาจจะทำให้สถานการณ์ปัญหาถังก๊าซขาดตลาด และราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก สามารถคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง และยิ่งเมื่อสถานีบริการขยายเพิ่มขึ้นครอบคลุมทั่วประเทศ เชื่อว่าอีกหลายยี่ห้อก็ต้องผลิตรถเอ็นจีวีออกมาเช่นกัน
http://www.manager.co.th/Motoring/ViewNews.aspx?NewsID=9510000074567
|