จาก Auto IP:61.90.149.126
อังคารที่ , 8/7/2551
เวลา : 11:44
อ่านแล้ว = ครั้ง
เก็บเข้ากระทู้ส่วนตัว
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
|
ก๊าซแอลพีจี หรือที่เรียกในภาษาชาวบ้านว่าก๊าซหุงต้ม ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่ประเทศไทยได้มีโครงการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยนำก๊าซธรรมชาติมาผ่านกระบวนการแยกเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมประเภทต่างๆ และในจำนวนนั้นมีก๊าซแอลพีจีที่จะนำมาทดแทนเชื้อเพลิงในการหุงต้ม คือค่าที่ได้จากการนำไม้มาเผาและใช้แทนน้ำมันเบนซินในเครื่องยนต์ก๊าซโซลีนรวมอยู่ด้วย
ก่อนหน้าที่ประเทศไทยจะมีการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยขึ้นมาใช้ ก๊าซแอลพีจีได้มาจากการกลั่นน้ำมันเป็นผลพลอยได้ และมีการนำเข้าจากต่างประเทศในส่วนที่ขาด
แต่เมื่อมีการนำก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกที่มาบตาพุดมาใช้ได้แล้ว การนำเข้าก๊าซก็ลดลง และราคาขายในประเทศก็ลดลงตามราคาต้นทุนที่ลดลงด้วย
มาวันนี้ ปตท.ในฐานะผู้รับผิดชอบในการผลิตและนำเข้าก๊าซและน้ำมัน ทั้งในส่วนที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ได้ออกมาพูดในทำนองว่าต้องชดเชยราคาก๊าซแอลพีจีมากขึ้นเรื่อยๆ และถึงจุดหนึ่งแบกรับการชดเชยไม่ไหวจึงขอปรับราคา และมีนโยบายลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจีในประเทศให้เป็นไปตามกลไกราคาของตลาดโลก จึงทำให้เกิดคำถามในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
ในปัจจุบันก๊าซแอลพีจีที่ใช้อยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ได้มาจากการนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาแยกมากกว่าการนำเข้า เหตุใดจึงใช้ราคาขายในตลาดโลกมาเป็นข้ออ้างในการปรับราคา ในเมื่อแอลพีจีที่ได้จากโรงแยกก๊าซมีต้นทุนต่ำกว่าการนำเข้า และน่าจะต่ำกว่าก๊าซแอลพีจีที่ได้จากการกลั่นน้ำมันด้วยซ้ำ เพราะราคาก๊าซธรรมชาติต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบ ตามที่ระบุไว้ในสัญญาการซื้อขายก๊าซจากผู้รับสัมปทาน จึงเป็นไปไม่ได้ที่ ปตท.จะกำหนดราคาก๊าซแอลพีจีที่ได้จากโรงแยกก๊าซเท่ากับก๊าซแอลพีจีได้จากโรงกลั่น เพราะต้นทุนของราคาน้ำมันและราคาก๊าซธรรมชาติ ณ ปากหลุมไม่เท่ากัน
ส่วนจะต่างกันเท่าใด ปตท.น่าจะได้นำรายละเอียดส่วนนี้ชี้แจงประชาชนให้ทราบตามความเป็นจริง มิใช่จู่ๆ อ้างราคาตลาดโลก และขอปรับราคาโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนที่แท้จริง และไม่รักษาผลประโยชน์ของประชาชนผู้เสียภาษีให้แก่รัฐ และเงินส่วนนี้ได้มีส่วนในการนำมาลงทุนเบื้องต้นให้กับ ปตท.ในระยะแรกๆ รวมไปถึงการที่รัฐบาลต้องค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ ปตท.และทำให้ ปตท.เกิดได้ในวงการธุรกิจ และเติบโตในวงการพลังงานจนมีกำไรเป็นหมื่นเป็นแสนล้านเช่นทุกวันนี้
ถ้ามีการลอยตัวราคาแอลพีจีโดยยึดราคาตลาดโลกเหมือนที่เกิดขึ้นกับราคาน้ำมันในขณะนี้ จะเกิดอะไรขึ้นกับ ปตท.และประชาชนผู้เสียภาษี ซึ่งมีส่วนในการเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจที่มีชื่อว่า ปตท.จะได้อะไร?
เพื่อจะตอบคำถามนี้ให้ตรงประเด็น และเพื่อเป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาพลังงานของประเทศในอนาคต ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูที่มาของ ปตท.ก็พอนึกได้ว่าหน่วยงานแห่งนี้เกิดขึ้นโดยการนำสองหน่วยงานของรัฐ คือ กรมพลังงานทหารซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการผลิต และจัดหาพลังงานให้แก่กองทัพ โดยเป็นเจ้าของบ่อน้ำมันที่ อ.ฝาง ที่ขนาดของการผลิตน้ำมันวันละประมาณ 1,000 บาร์เรล และองค์การแก๊สในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบในการให้สัมปทานการพัฒนาแหล่งก๊าซในอ่าวไทยเข้าด้วยกัน และใช้ชื่อใหม่ว่า การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
นับจากนั้นมา ปตท.ก็ได้เป็นผู้รับผิดชอบทั้งในกิจการก๊าซและน้ำมันของประเทศในส่วนของก๊าซที่ได้จากแหล่งผลิตในอ่าวไทย เมื่อได้นำมาแยกที่โรงแยกก็มีการส่งเสริมให้ใช้ก๊าซแอลพีจีแทนน้ำมันเบนซินในรถยนต์ และใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม รวมไปถึงอุตสาหกรรมขนาดเล็ก เช่น อุตสาหกรรมอบบ่มยาสูบ เป็นต้น โดยใช้ราคาและผลตอบแทนจากความสะดวกในการใช้เป็นเครื่องจูงใจให้ผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะที่มีการส่งเสริมการใช้ ปตท.มิได้มีแผนที่ชัดเจนรองรับการขยายตัวของปริมาณการใช้ จึงทำให้เกิดปัญหาตามมาอย่างน้อย 3ประการ คือ
1. สถานีจำหน่ายก๊าซแอลพีจีไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถยนต์เติมก๊าซที่นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้รถยนต์เติมก๊าซต้องเข้าคิวรอ
2. ในการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อใช้ก๊าซทดแทนน้ำมัน ปล่อยให้เป็นภาระของผู้บริโภคต้องยอมเสียค่าติดตั้งแพงแสนแพง เป็นการทำกำไรให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจประเภทนี้ แทนที่ ปตท.จะวางแผนร่วมมือกับผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ในแต่ละรายให้ผลิตรถยนต์ที่มีอุปกรณ์การใช้ก๊าซติดตั้งมาพร้อมจากโรงงาน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ราคาถูกลงกว่าที่ไปติดตั้งตามร้านค้าย่อย และมีกำกับมาตรฐานการใช้งานย่อมดีกว่าด้วย จึงเหมือนกับเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาหารายได้จากส่วนนี้ โดยผลักภาระให้ผู้บริโภคที่สนองความต้องการนโยบายรัฐในส่วนที่ใช้พลังงานทดแทนการนำเข้า
3. เมื่อมีผู้ใช้มากขึ้น และการจำหน่ายก๊าซทำได้ในวงกว้างขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่ามีตลาดรองรับเพียงพอ ปตท.ก็มีแนวคิดที่จะลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจีในทำนองเดียวกับราคาน้ำมันบ้างโดยอ้างราคาตลาดโลก โดยลืมไปว่าที่มีผู้ใช้ก๊าซเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ใช้ของในประเทศเพื่อป้องกันเงินตราไหลออกต่างประเทศ และเป็นการช่วยให้ธุรกิจพลังงานของไทยเติบโตเป็นคู่แข่งกับบริษัทต่างชาติได้
แต่วันนี้และเวลานี้ ปตท.ภายใต้โครงการแปรรูป ได้ลืมวัตถุประสงค์เดิมที่ทำให้ ปตท.ถือกำเนิดขึ้น คือ เป็นกิจการถ่วงดุลด้านพลังงานมิได้มุ่งหากำไรเฉกเช่นธุรกิจเอกชน แต่มุ่งเน้นหากำไรเพื่อจูงใจให้มีผู้มาซื้อหุ้น ปตท.ในตลาดฯ เพิ่มขึ้น และการดำเนินการในทำนองนี้เห็นได้ชัดว่าเพื่อสนองความต้องการของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก มิได้มุ่งสนองความต้องการของคนในชาติเฉกเช่นที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์เดิมแต่อย่างใด
ดังนั้น การลอยตัวราคาแอลพีจีในอนาคตที่จะเกิดขึ้น พูดได้โดยไม่ต้องประหยัดคำว่า ปตท.ทำเพื่อผู้ถือหุ้นโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และการทำเช่นนี้ถึงแม้จะเป็นการประกาศความเก่งกาจของผู้บริหารที่สามารถทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้ และได้รับการยกย่องจากผู้ถือหุ้นในฐานะเป็นกิจการที่ทำกำไรสูงสุดได้
แต่ถ้ามองในแง่ของกิจการของรัฐแล้ว ถือได้ว่าล้มเหลวเพราะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ปวงชนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ควรจะได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของชาติในราคาที่เหมาะสมไม่สูงเกินไป และไม่ต่ำจนถึงกับขาดทุน
และนี่คือหน้าหนึ่งของความล้มเหลวของรัฐที่ควบคุมราคาสินค้าไม่ได้ และนี่น่าจะเป็นต้นเหตุของระบบทุนนิยมที่มุ่งแสวงหากำไรให้แก่ผู้ลงทุน โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งๆ ที่เป็นกิจการของรัฐแต่มิได้ทำหน้าที่ที่คนของรัฐควรทำ คือ ดูแลทุกข์สุขของประชาชน แต่กลับเพิ่มความทุกข์ให้คนส่วนใหญ่ของประเทศที่ค่อนข้างยากจนเพื่อหาประโยชน์ให้คนรวยที่เป็นคนส่วนน้อยของประเทศ และถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ส่วนหนึ่งเชื่อว่าคนจะลุกฮือขึ้นมาทวงคืนความเป็นเจ้าของ ปตท.
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000079805
|