คำตอบที่ 6
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 15 ธันวาคม 2553 14:33 น.
แยกราคาก๊าซ แอลพีจี ออกเป็น 2 ตลาด ธพ.นัดถกผู้เกี่ยวข้อง 23 ธ.ค.นี้ เพื่อรับมือผลกระทบ หากรัฐบาลประกาศแยกราคาแอลพีจี โดยคาดว่า จะให้ลอยตัวในภาคอุตฯ คาดบีบผู้ประกอบการหันกลับไปใช้น้ำมันเตา ส่งผลให้ปริมาณการใช้-การนำเข้าลดลง ด้านผู้บริหาร บางจาก-ไทยออยล์ พร้อมปรับแผนหากรัฐขยับราคาหน้าโรงกลั่นอิงตลาดโลก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญแนะใช้ส่วนต่างราคา ระหว่างแอลพีจี และน้ำมันเตา
นายศิริศักดิ์ วิทยอุดม รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า จากที่นายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้แยกราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ลอยตัวราคาภาคอุตสาหกรรม 2.ควบคุมราคาภาคครัวเรือนและยานยนต์นั้น ธพ.ได้ร่างประกาศกระทรวง เพื่อดูแลด้วยการให้ภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แอลพีจีมากกว่า 500 กิโลกรัมต่อเดือน เป็นต้นไป ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้จากเดิมใช้ถังแอลพีจีเหมือนครัวเรือน เป็น bullb หรือถังเก็บขนาดใหญ่ ซึ่งจะต้องลงทุนเพิ่มประมาณ 100,000-200,000 บาท เท่านั้น และจะมีการเติมมาร์กเกอร์ให้มีความแตกต่างระหว่างก๊าซ 2 ประเภท จะทำให้ป้องกันการถ่ายเท ระหว่างกัน
รองอธิบดี ธพ.ยอมรับว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจะมีต้นทุนเพิ่ม แต่ในอดีตโรงงานส่วนใหญ่ใช้น้ำมันเตา แต่เมื่อน้ำมันแพงก็หันมาใช้แอลพีจีแทน แต่หากลอยตัวแอลพีจีจะแพงกว่า จึงคาดว่าโรงงานจะหันไปใช้น้ำมันเตา และแอลพีจีที่โรงงานใช้ 60,000 ตันต่อเดือน จะลดลงอย่างมาก
ด้าน นายณอคุณ สิทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในส่วนของผู้ประกอบการเซรามิกที่ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นราคาก๊าซอุตสาหกรรมนั้น กระทรวงขอชี้แจงว่า ที่ผ่านมา ได้ใช้เงินกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานเข้าไปช่วยเหลือด้วยการปรับปรุงเตาเผาให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ลดต้นทุนได้มาก ดังนั้น หากเปรียบเทียบกับราคาแอลพีจีที่ปรับขึ้น ก็คาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการยังสามารถแข่งขันได้
ด้าน นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากรัฐบาลปรับขึ้นราคาแอลพีจีหน้าโรงกลั่นให้ลอยตัว ซึ่งขณะนี้ราคาตะวันออกกลางอยู่ที่กว่า 900 ดอลลาร์ต่อตัน จากที่กำหนดราคาหน้าโรงกลั่นไทยไว้ไม่เกิน 330 ดอลลาร์ต่อตัน จะส่งผลให้โรงกลั่นต่างๆ นำแอลพีจีกลับมาขายเพิ่มขึ้น เพราะคุ้มทุนในการจำหน่าย เนื่องจากปัจจุบันโรงกลั่นนำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากขายในรูปแอลพีจีจะได้ในราคาเทียบเท่า 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เท่านั้น
โดยก่อนหน้านี้ บางจาก ได้นำแอลพีจีไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตไฮโดรเจน เมื่อปรับราคาก็จะนำมาจำหน่ายในตลาด และใช้ก๊าซธรรมชาติจาก ปตท. ทดแทน โดยคาดว่าในเฟสแรกจะจำหน่ายได้ 2,000 ตันต่อเดือน และเฟสที่ 2 ในไตรมาส 3 ปีหน้า จะจำหน่ายได้รวม 6,000 ตันต่อเดือน
ขณะที่ น.ส.สุวพร ศิริคุณ ผู้อำนวยการมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงพลังงานควรจะปรับราคาหน้าโรงกลั่นมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว เพราะการกดราคาดังกล่าว ยิ่งทำให้การนำเข้าแอลพีจีสูงขึ้น ผลประโยชน์ตกกลับโรงกลั่นในต่างประเทศ แต่หากจะปรับราคาไม่ควรปรับเท่ากับตลาดโลก แต่ควรจะกำหนดให้เท่ากับส่วนต่างระหว่างราคาแอลพีจีและน้ำมันเตา ซึ่งจะส่งผลให้ราคาลดลง
ส่วนเรื่องการแยกราคาขายปลีกเป็น 2 ส่วนนั้น ในส่วนตัวแล้วยังไม่เห็นด้วยเพราะอาจเกิดอันตราย ซึ่งต้องหาทางป้องกันการถ่ายเทให้ได้ ทั้งนี้ จากการที่รัฐตรึงราคาแอลพีจีมาช่วง 3 ปี ก็ทำให้การใช้แอลพีจีภาคอุตสาหกรรมขยับขึ้นจาก 40,000 ตันต่อปี เป็นถึงกว่า 700,000 ตันต่อปี
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยออยล์จำหน่ายแอลพีจีทั้งหมดในตลาด 16,000-18,000 ตันต่อเดือน ดังนั้น หากราคาลอยตัวจะส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้น 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี แต่หากใช้สูตรความแตกต่างระหว่างตลาดโลกและน้ำมันเตาแล้ว คาดว่ารายได้จะยังได้มากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งกรณีปรับราคานี้ กองทุนน้ำมันฯ จะชดเชยการนำเข้าลดลง และไม่เสียค่าขนส่งในอัตรา 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังจะมีรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เพิ่มขึ้นจากรายได้แอลพีจี ที่จำหน่ายในประเทศอีกถึงร้อยละ 30
รายงานข่าวเพิ่มเติม ระบุว่า การนำเข้าแอลพีจีล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 120,000 ตันต่อเดือน หากโรงแยกก๊าซที่ 6 ผลิตเต็มที่ รวมไปถึงโรงกลั่นฯ นำแอลพีจีมาจำหน่ายในระบบ และหากโรงงานอุตสาหกรรมหันกลับไปใช้น้ำมันเตาแทนแอลพีจีแล้ว จะทำให้ในอนาคตการนำเข้าลดลงได้มาก แต่การใช้ภาคยานยนต์จะมีทิศทางขยายตัว หากไม่ขึ้นราคาแอลพีจีท่ามกลางแนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้น