คำตอบที่ 114
แผ่นดินธรรมที่เลตองคุ
ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ป่าห้วยขาแข้ง และป่าอุ้มผางเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ติดต่อกัน ที่ใหญ่ที่สุด และอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
มีความลี้ลับน่าพิศวงมากมายซ่อนตัวอยู่ภายในป่าทึบผืนใหญ่แห่งนี้
ยิ่งส่วนในสุดของผืนป่าใหญ่ที่ติดชายแดนประเทศพม่านับเป็นดินแดนที่ห่างไกลจากความเจริญหรือไกลปืนเที่ยงมากที่สุดของประเทศ
พืชพรรณและสัตว์ป่าหลากชนิดหลายพันธุ์ที่มนุษย์ไม่เคยพบเห็น ดำรงชีพอยู่สงบสุขในป่าใหญ่
เช่นเดียวกับคนที่นี่ซึ่งเป็นคนป่าเขาที่อาศัยอยู่บริเวณนี้มาหลายร้อยพันปีแล้ว พวกเขาเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่มีวิถีชีวิต ความเป็นอยู่และความเชื่อ แตกต่างจากสังคมภายนอกเป็นลักษณะเฉพาะของตนเองที่บริสุทธิ์ปราศจากการแต่งเติมของอารยธรรม ความเจริญจากนอกชุมชน
ที่นี่คือบ้าน เลตองคุ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
ดินแดนลี้ลับสุดแดนสนธยา เล่ากันมาว่าความเป็นอยู่ผิดแปลกจากชนเผ่าอื่น เพราะปกครองโดยฤาษี
เราเดินทะลุป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ข้ามทิวเขาลูกแล้วลูกเล่าพักแรมตามหมู่บ้านกะเหรี่ยงบ้าง พักแรมกลางป่าบ้าง เพื่อไปรู้จักชีวิตกลางป่าที่บ้าน เลตองคุ
บ้านเลตองคุ เป็นหมู่บ้านขนาดกลาง มี 100 กว่าหลังคาเรือน ประชากรประมาณ 500 คน แยกเป็นกลุ่มบ้านเล็ก ๆ ได้ 8 กลุ่ม
ชาวบ้านทั้งหมดเป็นชาวกะเหรี่ยง มีทั้งกะเหรี่ยงสะกอ ที่เรียกตนเองว่า "ปกาเกอะญอ" และกะเหรี่ยงโปที่เรียกตนเองว่า "โผล่ว" อยู่ปะปนกัน
ชาวบ้านพูดได้ทั้งภาษากะเหรึ่ยงสะกอและกะเหรี่ยงโป น้อยคนนักที่พูดภาษาไทยได้
ผู้ชายไว้ผมยาว แล้วมัดเป็นมวยไว้เหนือศีรษะ ด้านหน้า ส่วนผู้หญิงมัดเป็นมวยไว้ที่ศีรษะด้านหลัง
ผมที่ไว้ยาวแล้วมัดเป็นมวย เป็นเสมือนศรัทธามั่นคงเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ต่อความเชื่อที่มีแต่ยืดยาวออกไป โดยไม่มีการบั่นทอนให้ลดน้อยหรือสั้นลง
ผู้หญิงนุ่งชุดกะเหรี่ยง หากเป็นหญิงสาวจะนุ่งชุดทรงกระสอบยาวสีขาว หากแต่งงานแล้วจะนุ่งผ้าถุงและเสื้อกะเหรี่ยง ซึ่งโดยมากเป็นสีแดง ส่วนผู้ชายนุ่งผ้าผืนแบบผ้าขาวม้าสีเขียว เสื้อเป็นแบบผ่าอกตลอดแบบเสื้อเชิ้ต
เสื้อผ้าไม่ใช่เพียงเครื่องห่อหุ้มร่างกาย หากหมายรวมถึงสัญลักษณ์อันเป็นเอกลักษณ์ของชายเลตองคุ ที่มีความเชื่อแน่วแน่มั่นคงเช่นเดียวกัน ผู้ถือปฎิบัติในลัทธิฤาษี จะแต่งกายให้ถูกต้องตามธรรมเนียมประเพณี
ดุจพระภิกษุต้องนุ่งห่มด้วยผ้าไตร
ดินแดนที่ห่างไกลเช่นนี้เป็นอิสระมาหลายร้อยปี ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่ทำเองใช้เอง
หมู่บ้านมีทุ่งนา เชิงเขามีไร่ข้าว ปลูกผัก พริก มะเขือ ฯลฯ ไว้กิน กลางหมู่บ้านมีลำธาร ไหลผ่าน
ต้นหมาก ต้นมะพร้าว ต้นทุเรียน ขึ้นเป็นป่าเพราะแน่นขนัดไปหมด
ได้แสงสว่างจากไต้ซึ่งทำจากน้ำมันยาง
ขาดเหลืออะไร เลือกเก็บกินเก็บใช้จากป่า
บ้านเรือนโดยมากทำจากไม้ไผ่ ผุพังก็ซ่อมแซมไม่ยาก
ปลูกฝ้าย ปั่นด้าย ทอผ้าใช้กันเอง
เป็นสังคมที่พึ่งพาตนเองได้อย่างสมบูรณ์
ผู้ที่เป็นผู้นำ โดยเฉพาะในด้านความเชื่อ ระเบียบปฏิบัติในชุมชน และศาสนาคือ "ฤาษี"
ผู้เป็นฤาษี จะต้องเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ได้รับการทำนายจากฤาษีตนก่อนว่า จะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง และฤาษี ตนใหม่เองจะต้องฝันเป็นนิติครบ 3 ครั้ง จึงจะเป็นฤาษีที่สมบูรณ์
ฤาษีจะอยู่เฉพาะบริเวณศาลาฤาษี และนอนในศาลาฤาษีเท่านั้น ทำหน้าที่ปกครองดูแลและนำชาวบ้าน ในการประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องดีงาม เพื่อรอรับพระผู้มีพระภาคเจ้าองค์ต่อไป ที่จะเสด็จมาโปรดชาวโลก คือ "พระศรีอาริยเมตไตรย"
ความบริสุทธิ์ผุดผ่องที่ทุกคนถือปฏิบัติร่วมกัน ทำให้ทุกคนเป็น "ชาวอริยะ" ซึ่งจะได้พบพระศรีอาริยเมตไตรย และได้อยู่ร่วมกับพระองค์ในอีกไม่ช้า
แม้ยังไม่พบพระศรีอาริยเมตไตรย แต่ความดีที่กระทำไว้ ก็ส่งผลให้เห็นตลอดเวลา คือ ความสงบสุขของบ้านเลตองคุ
ดินแดนหรือสังคมของพระศรีอาริย์ เป็นความฝันหรืออุดมคติ ที่คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นไปไม่ได้ในสังคมจริง ที่นี่ ชาวเลตองคุ พิสูจน์มานับร้อยปีแล้ว ว่าสามารถเป็นไปได้
ความดีที่ชาวเลตองคุถือปฏิบัติโดยไม่ล่วงเกิน สรุปรวมแล้วคือศีล 5 นั่นเอง แต่พวกเขาไม่รู้ว่าเป็นศีล 5 ในพระพุทธศาสนา หากคิดว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่พวกเขายึดถือกันมาเนิ่นนาน โดยไม่แบ่ง เป็นข้อ ๆ ดังศีล 5
พวกเขาไม่เลี้ยงสัตว์ไว้ฆ่ากิน เพราะเห็นว่าคนที่ฆ่าสัตว์ที่ตนเองเลี้ยงไว้ได้ลง ย่อมเป็นคนที่เลือดเย็นอำมหิตมาก แม้วัวควายที่เลี้ยงไว้ใช้งาน เมื่อตายลงพวกเขาก็ไม่กินเนื้อ
เหตุการณ์ ตชต. ถูกฆ่าตายที่บ้านแม่จันทะ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2535 กระแสข่าวบางกระแสพยายามเชื่อมโยงมาถึงลัทธิฤาษีที่บ้านเลตองคุ แต่ชาวเลตองคุยืนยันว่า "กลุ่มฤาษีนี้ไม่มีการฆ่าคนอย่างเด็ดขาด แม้แต่การทำร้ายก็ไม่มี"
ซึ่งเป็นจริงดังกล่าว เพราะแม้แต่ตีลูก ชาวเลตองคุก็ไม่ทำ
ในหมู่บ้านไม่มีการลักทรัพย์ แต่ละบ้านไม่มีกลอนหรือกุญแจ
การแต่งงานต้องถูกต้องตามประเพณี ไม่มีการคบชู้หรือหลายผัวมากเมีย
ไม่พูดปดโกหก พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ และไม่พูดด้วยถ้อยคำหรือท่าทีรุนแรงอีกด้วย
ชาวเลตองคุไม่กินเหล้า บุหรี่ กัญชา ฝิ่น ยาเสพติดทุกชนิด ยกเว้นยาเส้นกับหมาก รวมทั้งไม่เล่นการพนันทุกชนิดด้วย
ทุกคนยึดมั่นในลัทธิฤาษี ซึ่งมีพระศรีอาริยเมตไตรยเป็นเป้าหมายของการทำความดี
ในช่วงปฏิวัติ (ราว พ.ศ. 2519-2523) พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้อาศัยป่าแถบนี้เป็นฐานที่มั่นใหญ่ บ้านเลตองคุ เป็นหมู่บ้านเดียวที่ไม่เข้าด้วยฝ่ายปฏิวัติ (ผกค.) และฝ่ายปฏิวัติไม่สามารถเกลี้ยกล่อมได้ เมื่อเกิดการกวาดล้าง บ้านเลตองคุก็รอดพ้นความวุ่นวาย และเป็นอยู่อย่างสงบสุขเรื่อยมา
ชายหนุ่มที่ต้องการยึดถือปฏิบัติอย่างเข้มข้น จะถือบวชโกนศีรษะเป็นลูกศิษย์อยู่กับฤาษี จากนั้นจะไม่ตัดผมอีกเลย แล้วมาศึกษาเล่าเรียนและกินอยู่ที่สำนักฤาษี
ลูกศิษย์ฤาษีมีการยึดถือปฏิบัติเข้มข้นกว่าชาวบ้านธรรมดา เช่น ไม่ขึ้นบ้านชาวบ้าน กินข้าวต้องกินนอกเขตตัวบ้าน
เป็นความพยายามหลีกเลี่ยงเรื่องทางโลกให้มากที่สุด เพื่อจะได้ใช้ชีวิตทั้งหมดทุ่มเทให้เจริญก้าวหน้าในทางธรรม ผู้เป็นลูกศิษย์เท่านั้นจึงจะมีโอกาสได้เป็นฤาษีตนต่อไป ในภาคหน้าหากตนปัจจุบันสิ้นชีพ ลง
ฤาษีตนปัจจุบันเป็นตนที่ 10 ที่ดำรงตำแหน่งสืบทอดกันมานับร้อยปี
เป็นผู้นำในการทำความดี ที่ชาวบ้านประพฤติปฏิบัติตามเป็นปกติ จนเป็นหมู่บ้านแผ่นดินธรรมที่สมบูรณ์แบบ สงบสุขท่ามกลางป่าใหญ่ กลมกลืนสอดคล้องกับธรรมะ และธรรมชาติ ด้วยวิถีชีวิตที่เรียบง่าย
เป็นหมู่บ้านแผ่นดินธรรมที่ไร้กฎระเบียบ เพราะความถูกต้องงดงามเต็มเปี่ยมอยู่แล้วในจริยวัตร และความเป็นอยู่ปกติของทุกคน
ชาวบ้านไม่ต้องการเงิน ไม่ต้องการการศึกษา ไม่ต้องการความเจริญ เพราะชีวิตและจิตใจของพวกเขา อิ่มเอมเพียงพอแล้วด้วยความสงบสุข
เมื่อเราจากหมู่บ้านเลตองคุ ดินแดนแผ่นดินธรรม ที่เป็นจริงเป็นจังในพื้นโลก กลับมาจิตใจของเรามีแต่ความปิติ ที่ได้มีโอกาสพบดินแดนที่ธรรมะเป็นหนึ่งเดียวกับวิถีชีวิตทั้งพลอยอนุโมทนา ในความดีที่ชาวเลตองคุร่วมกันกระทำ ซึ่งพวกเขาไม่รู้สึกว่าเป็นความดีแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่พวกเขาปฏิบัติกันมาเป็นร้อยปี
กลางป่าใหญ่อุดมสมบูรณ์ ลำธารใส ธรรมชาติ สะอาดบริสุทธิ์ มีผู้คนประพฤติดีใช้ชีวิตเรียบง่าย ปกติงดงามในจิตใจ สังคมสงบสุข พึ่งตนเองได้อย่างสมบูรณ์
แดนสวรรค์ในอุดมคติที่เราเคยใฝ่ฝัน ซ่อนตัวในป่าลึก
ส่วนดินแดนที่เราประสบในเมืองทุกวันนี้ช่างห่างไกลกันเสียเหลือเกิน
ไม่ใช่ห่างไกลเพียงระยะทาง หากยิ่งห่างไกลด้วยธรรม
ที่มา : ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา