WeekendHobby.com


ส่ง SCOOP สดจาก LIVE! 4X4 มาให้อ่านกันครับ

จาก จาก LIVE! 4X4 MAXGAZINE
พุธที่ , 27/7/2548
เวลา : 13:00

อ่าน = 2499
61.91.197.18
      

เปิดตำนานตนสายพันธุ์ 4x4

ลมร้อนยามบ่ายพัดแรง ม้วนตีฝุ่นกระจายคลุ้งทั่วอาณาบริเวณสนามแข่งขัน Shell Helix off Road Trophy 2005 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เปลวแดดบ่ายวันนั้นร้อนจัดจ้านเสียจนคนทั่วไปต้องเร่งเท้าเข้าหาร่มเงาใกล้ตัวพักพิง แต่นั่นกลับเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับนักแข่งรถขับเคลื่อนสี่ล้อ และกลุ่มคนคอโฟร์วีลไดร์ฟ ที่หลงใหลในเกมการแข่งขันตรงหน้าอันเป็นเกมกีฬาที่ผสมผสานระหว่างความเร็วและความลุยเอาไว้อย่างลงตัว
รถโฟร์วีลไดร์ฟคันกะทัดรัดถูกดัดแปลงให้เป็นรถแข่งมาดลุย ดุดัน วิ่งไปบนเส้นทางวิบากอย่างรวดเร็วจนสุดเนินแล้วสะดุดอยู่กับที่ก่อนถอยกรูดลงมาเรียกเสียงฮืฮฮาจากคนดูทั้งสนาม จนลืมความร้อนแรงของอากาศไปชั่วขณะ
เวลาผ่านไปเพียงเสี้ยววินาที รถคันดังกล่าวก็กระโจนจากก้นหลุมลอยละลิ่วข้ามเนิน แล้ววิ่งไล่กวดตามคู่แข่งที่ทิ้งห่างออกไปด้วยอัตราเร่งที่เร็วกระชั้นกว่าเดิม
ความดุเดือดเผ็ดมันส์ของเกมแข่งขันรถขับเคลื่อนสี่ล้อเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะมีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศทาง ITV เท่านั้น แต่ความนิยมในการแข่งขันรูปแบบเดียวกันนี้ยังแพร่หลายไปในทุกภูมิภาคของประเทศ ที่สำคัญคือทุก ๆ สนามแข่งขัน ไม่ว่าจะจัดโดยชมรม สมาพันธ์ฯ หรือของบริษัทเอกชนก็ตาม ล้วนแต่เต็มไปด้วยความเร้าใจราวกับกำลังลุ้นผลแพ้-ชนะของมวยคู่เอกระดับประเทศก็ไม่ปาน
นี่ย่อมแสดงให้เห็นว่า วงการรถขับเคลื่อนสี่ล้อของไทยก้าวเดินมาสู่การยอมรับของสาธารณชน เป็นวงกว้างระดับประเทศแล้วอย่างแท้จริง
สภาวะตื่นตัวของวงการโฟร์วีลไดร์ฟ ทำให้เกิดคำถามต่อไปอีกว่ารถขับเคลื่อนสี่ล้อมีดีอะไร? เหตุใดจึงเข้าไปอยู่ในหัวใจของคนไทยทั้งในเมือง และต่างจังหวัดได้มากมายขนาดนี้…!!!

จากพาหนะคู่ใจพรานไพร
สู่คู่ใจคอโฟร์วีล
บทบันทึกจากปลายปากกาของชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ นักเขียนเรื่องป่าดงพงไพรนามอุโฆษ นอกจากจะบอกเล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ป่าและสัตว์ป่าเมื่อ 50 ปีก่อน แต่เนื้อหาในเรื่อง “พรานบุญแห่งดงพญาเย็น” ยังได้บันทึกไว้ว่า เมื่อปี พ.ศ.2495 ซึ่งถนนมิตรภาพยังไม่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมภาคกลางกับภาคอีสานนั้น ป่าดงพญาไฟ (หรือดงพญาเย็น หรือผืนป่าแถบเขาใหญ่ในปัจจุบัน) เป็นความท้าทายของ “คณะนิยมไพร” เป็นอย่างยิ่ง พร้อมทั้งระบุว่าพาหนะที่มีสมรรถนะสุดยอดในการบุกป่าฝ่าดงในยุคนั้นคือ “เกวียน” การเดินทางของนักนิยมไพรมีระดับจึงต้องจ้างเกวียนขนข้าวของ เดินทางเป็นคาราวานเกวียนเข้าป่า...ไม่ต่างจากคาราวานรถขับเคลื่อนสี่ล้อสมัยนี้
อย่าว่าแต่แต่ถนนมิตรภาพยังไม่ถูกสร้างเลย เส้นทางจากตัวเมืองกาญจนบุรีไปทองผาภูมิ ป่าปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ป่าโป่งน้ำร้อน จันทบุรี รวมทั้งเส้นทางต่าง ๆ ทั่วประเทศก็ยังเป็นเส้นทางรกร้าง อย่างดีก็เป็นทางเกวียนหรือทางลูกรังเท่านั้น
สำหรับ JEEP รถรบขนาด 1/4 ตัน ที่มีระบบขับเคลื่อนสี่ล้อคันแรกของโลก ที่ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2484 (ค.ศ.1941) เพื่อใช้ในการรบในยุคสงครามโลก ครั้งที่ 2 นั้นกว่าจะเข้ามาเปิดตำนานในไทยก็ล่วงเลยสู่ช่วงสงครามเกาหลี (ระหว่าง พ.ศ.2493-2497) และช่วงต้น ๆ ของสงครามเวียดนาม (พ.ศ.2501-2518) JEEP รุ่น M38 ที่รู้จักกันในนาม “สิงห์ทะเลทราย” จึงมีโอกาสเข้ามาอวดโฉมในเมืองไทย
หลังจากสงครามสงบลงรถจี๊ปจากสงครามส่วนหนึ่งก็เริ่มถูกนำมาใช้เพื่อการเข้าป่า แต่ส่วนใหญ่ใช้กันแพร่หลายในกลุ่มคนชั้นสูง นายทหาร และนายพรานมีระดับที่ชื่นชอบขับรถจี๊ป เข้าป่าล่าสัตว์ รถที่นิยมใช้ในยุคนั้นส่วนใหญ่จะเป็นรถจี๊ปเล็ก จี๊ปหน้ากบ และจี๊ปกลาง
“เหตุที่รถจี๊ปได้รับความนิยมในยุคนั้นเพราะได้รับอิทธิพลจากอังกฤษ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนนอก พอกลับมามักจะชอบใส่เสื้อซาฟารี สวมหมวกกะโล่ ถือปืน มีลูกหาบ ขับรถจี๊ปเข้าไปแค้มปิ้งตามป่าแบบเดียวกับคนอังกฤษ ซึ่งป่าที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้นก็อยู่ในแถบจังหวัดราชบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด และกาญจนบุรี” ทศพร หงสนันท์ ผู้มีประสบการณ์โชกโชนในการท่องป่าบอกเล่าถึงความหลังเมื่อครั้งติดตามครอบครัวเข้าป่าย้อนหลังไปเมื่อกว่า 50 ปีก่อน
กลุ่มนักท่องป่ายุคบุกเบิกที่รู้จักกันดีก็คือ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ผู้ก่อตั้ง “สมาคมนิยมไพร” ครูมาลัย ชูพินิจ หรือเจ้าของนามปากกา “น้อย อินทนนท์” คุณใหญ่ เศรษฐบุตร พ่อเลี้ยงเทียม จันทรวิโรจน์ วิสิถ ลิ้มประสูติ ที่รู้จักกันในนาม “ไวเซียะ เจ้าแห่งจระเข้” พรานระดับอาวุโสก็มี คุณพระอาทร พลตรีพระศัลย์เวทย์วิศิษฏ์ คุณพระอินทร์สรศัลย์ ม.ร.ว.ดิลกลาภ ทวีวงศ์ เจียด สุจริตกุล สุธี นิโครธานนท์ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ “ก๊ก”-ดำรง แสงชูวงศ์ และชนะ ศรีอุบล เป็นต้น
เส้นทางเข้าป่าในยุคก่อนไม่ต่างจากการบุกเบิกเส้นทางที่รกร้าง จึงเป็นเส้นทางที่มีความดิบ ขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ รถเข้าป่าจึงต้องมีสมรรถนะพร้อมที่จะผจญกับความสมบุกสมบัน และคนเดินทางต้องรอบรู้ในเรื่องการใช้รถ รวมทั้งรู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในขณะที่รถติดหล่มหรือเจออุปสรรคต่าง ๆ อย่างแท้จริง เนื่องจากเทคโนโลยีของระบบขับเคลื่อนสี่ล้อยังไม่ทันสมัยเฉกเช่นปัจจุบัน ที่ในรถบางรุ่น การพิชิตอุปสรรคต่าง ๆ ง่ายดายเพียงแค่ใช้ปลายนิ้วกดปุ่มให้รถพาไป
พัฒนาสู่ยานยนต์แห่งการผจญภัย
ช่วงปี พ.ศ. 2500-2515 นับเป็นห้วงเวลาที่การเดินทางท่องป่าได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยมีกลุ่มนักนิยมไพรเป็นตัวชูโรง ซึ่งเรื่องราวการเข้าป่าได้ถูกถ่ายทอดลงตามสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสารรายสัปดาห์ นิตยสารรายเดือน ฯลฯ ทำให้เป็นรูปแบบการใช้ชีวิตที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งมีนวนิยายแนวผจญภัยในป่าอย่าง เพชรพระอุมา และ ล่องไพร ตีพิมพ์ออกมาและโด่งดังเป็นอย่างมาก
ปี พ.ศ.2516 การเข้าป่าในรูปแบบเดิม ๆ กลายเป็นสิ่งต้องห้าม เมื่อเกิดกระแสการประท้วงจากกลุ่มนักศึกษา ที่ไปพบเห็นการลักลอบล่าสัตว์ที่ เซซาโว่ ในเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และมีการใช้อภิสิทธิ์ขนใส่ ฮ.ของทางราชการจนเกิดอุบัติเหตุตกแถวบางเลน นครปฐม จนบานปลายกลายเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเปลี่ยนโฉมหน้าวงการโฟร์วีลไดร์ฟเมืองไทยโดยสิ้นเชิงด้วยเช่นกัน
“สมัยก่อนพรานรุ่นใหญ่ยิงเนื้อหรือกวางได้นี่สามารถพาดเอาไว้หน้ารถจี๊ปแล้วขับรถเข้าตัวจังหวัดกาญจนบุรีได้ แต่ต่อมากฎหมายเข้มงวดขึ้น การเที่ยวป่าจึงพลิกเปลี่ยนไป หันมาเน้นสมรรถนะของรถมากกว่า สมัยนั้นใช้ยางเล็กเท่ากับยางชาวบ้านทั่วไป เลยทำให้เกิดความคิดที่จะดัดแปลงรถขึ้น ทำให้เกิดกระแสฮิตรถยางล้อโตหรือไอ้ตีนโตอยู่พักใหญ่” “แอ๊บ” สมศักดิ์ นัยทรัพย์ นักท่องป่ารุ่นบุกเบิกหนึ่งในไม่กี่คนที่ยังมีชีวิตอยู่บอกเล่าถึงจุดเปลี่ยนที่เป็นข้อต่อระหว่างยุคเก่ากับยุคใหม่ แน่นอนว่าภาพแห่งวันวานยังคงแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำของผู้ชายวัยห้าสิบปลาย ๆ คนนี้

สมรรถนะเหนือชั้นจุดกระแส “4X4” ฟีเวอร์
ตลาดรถขับเคลื่อนสี่ล้อในเมืองไทยนั้น เคยมีความพยายามที่จะนำรถ ซูซูกิ คาริเบียน เครื่องยนต์ 1,000 ซี.ซี. เข้ามาทำตลาด โดยนำมาโชว์ตัวในงามมอเตอร์โชว์ที่สวนอัมพร แต่ไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างไร ต่อมาค่ายมิตซูบิชิ นำ มิตซูบิชิ ปาเจโร เครื่องยนต์ 2,500 ซี.ซี. รุ่นตัวถังเหลี่ยมเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังเป็นเจ้าแรก และสร้างความฮือฮาได้พอสมควร ต่อมา อีซูซุ โรดีโอ เป็นรถอีกรุ่นที่เข้ามาเจาะตลาด
กระแสความนิยมในรถขับเคลื่อนสี่ล้อเข้าสู่ยุคบูมสุดขีดเมื่อไครส์เลอร์ ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของอเมริกา เจ้าของตำนาน JEEP เข้ามาบุกตลาดรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อในประเทศไทยเมื่อปี 2538 ภายหลังการเลิกกำแพงภาษีรถยนต์ 600% มาอยู่ระหว่างรถเก๋งกับรถปิกอัพ ต้องยอมรับว่าค่ายไครสเลอร์ทำการตลาดได้อย่างมีสีสัน ทั้งสร้างสนามทดสอบรถ จัดคาราวานทดสอบสมรรถนะรถในเส้นทางธรรมชาติ จนเกิดกระแส จี๊ป เชอโรกีฟีเวอร์ขึ้นมา
ความโดดเด่นทั้งด้านการดีไซน์ และคุณสมบัติของระบบขับเคลื่อนสี่ล้อที่สามารถพารถข้ามผ่านอุปสรรคทั้งบ่อโคลน เนินชัน เนินเอียง นับเป็นจุดแตกต่างที่ส่งเสริมให้รถจี๊ปของค่ายไครส์เลอร์ได้รับความนิยม ทำให้ค่ายรถต่าง ๆ หันมาบุกตลาดนี้กันมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายรถขับเคลื่อนสี่ล้อเป็นดาวเด่นในตลาดรถเมืองไทย โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2540 ที่เศรษฐกิจตกต่ำเป็นประวัติการณ์นั้น รถขับเคลื่อนสี่ล้อกลับได้รับความนิยมสวนกระแสขึ้นมาอย่างพลิกความคาดหมาย มีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดมากกว่า 20%
นอกจากนั้นกระแส 4x4 ฟีเวอร์ ยังพลอยกระตุ้นให้ตลาดอุปกรณ์ต่อเนื่อง และร้านแต่งรถออฟโรดขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดอาชีพ และการจ้างงานสวนกระแสเศรษฐกิจยุคฟองสบู่แตก ได้อย่างน่าอัศจรรย์
กระแสความนิยมรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อในครั้งนั้นทำให้บริษัทรถยนต์ทุกค่าย ทั้งรายเล็กรายใหญ่ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้า ฮอนด้า อีซูซุ มิตซูบิชิ ฟอร์ด มาสด้า เกีย และซูซูกิ ต้องหันหัวรบมารุกในตลาดเซ็กเมนท์นี้อย่างเอาจริงเอาจัง
ดังนั้นจึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่ท้องถนนในช่วงปี พ.ศ.2540-2545 จะเต็มไปด้วยรถขับเคลื่อนสี่ล้อป้ายแดง และรถปิกอัพที่จับมาตกแต่งมาดลุยสไตล์ 4x4
ชมรมนับร้อยนับพัน
การรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เป็นชมรม ของผู้ใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อนั้นเหตุผลหลัก ๆ คือความเป็นคนสายพันธุ์เดียวกัน ชอบรถโฟร์วีลไดร์ฟเหมือนกัน ย่อมพูดคุยกันรู้เรื่อง คนคอออฟโรดที่รวมตัวกันเป็นชมรมอย่างเป็นรูปธรรมกลุ่มแรก ก็คือ ชมรมสยามออฟโรด (SIAM OFF ROAD CLUB) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2533 โดยมี “เอิร์ก” สุรชัย กำภู ณ อยุธยา รับหน้าเสื่อเป็นประธานคนแรก การชุมนุมของชมรมสยามออฟโรดจัดขึ้นที่แก่งระเบิด ก่อนที่จะรวมตัวกันครั้งที่ 3 ในทริปทุ่งใหญ่นเรศวร เมื่อ 9-12 ธันวาคม พ.ศ.2537 ซึ่งนับเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายของชมรม
นับจากนั้นเป็นต้นมาก็มีชมรมออฟโรดเกิดขึ้นตามมาอีกหลายชมรม เช่น ชมรมจี๊พคลับเชียงใหม่ ‘94ชมรมจอมพลัง อุดรฯ ชมรม WILD MILD จากจำนวนไม่กี่ชมรมในเบื้องต้น เมื่อกระแสความนิยมในรถขับเคลื่อนสี่ล้อบูมขึ้นมานับตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 เป็นต้นมา ชมรมผู้ใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อก็ทวีจำนวนขึ้นเป็นหลักสิบ จนกระทั่งล่าสุด มีมากถึงกว่าร้อยชมรม กระจายอยู่แทบทุกจังหวัดทั่วประเทศ
มีการรวมตัวก่อตั้ง สมาพันธ์ออฟโรดแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2540 โดย ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา ได้รับการโหวตให้เป็นประธานคนแรกและคนปัจจุบัน ต่อมา ศูนย์ผู้ใช้รถออฟโรดแห่งประเทศไทย ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2546 นอกจากสององค์กรหลักก็มีกลุ่ม ชมรมอิสระ ที่จับกลุ่มท่องเที่ยวกันเองอีกจำนวนไม่น้อย
“ชมรมออฟโรดส่วนใหญ่เป็นการรวมตัวของคนคอเดียวกัน เป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยเดือดร้อนเรื่องการเงิน ทำให้ระดมพลทำกิจกรรมการกุศลต่าง ๆ ได้ง่าย ขณะเดียวกันการรวมกลุ่มกันทำให้ได้รับการแนะนำให้ฝึกฝนตัวเอง รู้จักการใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้ออย่างถูกวิธี” เรวัตร นิลาพันธ์ เลขาธิการสมาพันธ์ฯคนปัจจุบันเล่าถึงการรวมตัวของกลุ่มชมรมออฟโรดที่นับวันมีแต่จะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ
“สมาพันธ์ออฟโรดแห่งประเทศไทยมีชมรมที่เป็นสมาชิกกว่าร้อยชมรม ทำให้เราคิดว่าจะกระจายการบริหารออกไป ให้ทุกจังหวัดรวมตัวกันโดยแบ่งเป็นโซน ภาคเหนือ อีสาน กลาง และใต้ โดยมีส่วนกลางคอยซัพพอร์ตอยู่” ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา ประธานสมาพันธ์ฯ อธิบายรูปแบบการรวมตัวที่มีการจัดวางระบบเอาไว้อย่างลงตัว
ขณะเดียวกัน ชาญชัย เพชร์อินทร์ เลขาธิการศูนย์ผู้ใช้รถออฟโรดแห่งประเทศไทย ระบุว่า “วงการออฟโรดมีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ต่อไปจะเชื่อมโยงเป็นใยแมงมุม โยงใยกันทุกภาคเกือบ 100% อย่างภาคตะวันออกสามารถไล่เรียงตั้งแต่ชลบุรี ระยอง จันทบุรี จนสุดถึงจังหวัดตราด ทางภาคใต้ถ้าไล่จากประจวบคีรีขันธ์ลงไปนี่ถือว่ามีชมรมอยู่ทุกจังหวัด ส่วนทางภาคเหนือก็มีเกือบทุกจังหวัดที่เป็นสมาชิกศูนย์ผู้ใช้รถยนต์ออฟโรดฯ”
จำนวนชมรมที่ผุดขึ้นมากมาย ผนวกกับการบริหารอย่างเป็นระบบของทั้งสององค์กร และการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ จัดการแข่งขันรถขับเคลื่อนสี่ล้อเพื่อการกุศล หรือการจัดคาราวานท่องเที่ยวร่วมกัน ทำให้กลุ่มผู้ใช้รถออฟโรดมีความเป็นชุมชนมากที่สุดในกระบวนผู้ใช้รถยนต์ทุกประเภท
“รักษ์ป่า” ปมพลิกสู่เกมแข่งขันออฟโรดในสนามนอกป่า
สรรพสิ่งย่อมมีสองด้าน เมื่อกลุ่มคนรักรถออฟโรดมีความโดดเด่นในด้านการรวมตัวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ประกอบกับสมรรถนะของรถทำให้สามารถเข้าถึงในทุกพื้นที่ที่รถยนต์ธรรมดาเข้าไม่ถึง แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเข้าไปท่องเที่ยวตามป่าธรรมชาติก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบกับสภาพเดิม ๆ ของป่า ทำให้เป็นจุดอ่อนที่ทำให้เกิดแรงต้านจากกลุ่มนักอนุรักษ์ ทั้งที่ในเบื้องลึกแล้วคนคอออฟโรดส่วนใหญ่ มากกว่า 95% มีจิตใจรักป่าเขาลำเนาไพร ต้องการรักษาสภาพป่าให้คงความสมบูรณ์ดังเดิมเฉกเช่นคนทั่วไป และส่วนใหญ่จะรักษากติกาในการขับรถเข้าป่า จะไม่เปิดเส้นทางใหม่ ไม่ทำลายสภาพเดิมของป่า และจะเตรียมถุงดำเพื่อเก็บขยะที่เกิดขึ้นจากการค้างแรมในป่าออกมาทิ้งนอกป่า ฯลฯ
แต่กระแสอนุรักษ์ที่มาแรงก็มีผลโดยตรงต่อกลุ่มออฟโรด ในแง่ที่ต้องปรับรูปแบบการรวมกลุ่มเที่ยว จากเดิมเคยรวมตัวเป็นกลุ่มใหญ่ 20-30 คัน หรือบางครั้งเป็นร้อยคัน ให้กลายเป็นกลุ่มขนาดเล็กลงมาแค่ 3-10 คัน เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อดุลยภาพของธรรมชาติ
แน่นอนว่า การจัดการแข่งขันในผืนป่าธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่เป้นไปไม่ได้ และไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องอย่างแน่นอน จุดนี้เองที่ทำให้เกิดการสร้างสนามที่จำลองสภาพอุปสรรคตามธรรมชาติขึ้นมาเพื่อใช้แข่งขันแทน โดยสนามแรกที่ถูกสร้างขึ้นก็คือ “สนามบ่อพลอย” ในเหมืองบลูแซฟไฟร์ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ของกำนันหยุน-คุณไพบูลย์ พิมพ์พิสิฐถาวร โดยมีทีมงานของนิตยสารออฟโรดเป็นผู้บุกเบิกเป็นเจ้าแรก
หลังจากนั้นนิตยสารออฟโรด ได้จัดการแข่งขันรถขับเคลื่อนสี่ล้อขึ้นมา ในรายการ ESSO-OFF ROAD MAN เมื่อปี 2538 ซึ่งต่อมาความนิยมในเกมการแข่งขันรถออฟโรดก็ก้าวสู่ความเฟื่องฟูสุด ๆ เมื่อบริษัท ทาร์เก็ท มีเดีย แอนด์ เทเลวิชั่น จำกัด ภายใต้การนำทีมของจิรายุ ห่วงทรัพย์ จับมือกับค่ายกรังด์ปรีซ์ฯ เจ้าของนิตยสารออฟโรด ทำการถ่ายทอดสดการแข่งขันรถออฟโรดออกทางไอทีวี เมื่อปี 2543 ภายใต้ชื่อรายการ EGR OFF ROAD TROPHY ซึ่งในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น SHELL HELIX OFF ROAD TROPHY 2005
“เราเข้าสู่ปีที่หกของการแข่งขันแล้ว นับว่ามีส่วนในการสร้างตลาดพอสมควร ถ้าสังเกตจากยอดการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ จะเห็นว่าภาพโดยรวมโตขึ้น รถขับเคลื่อนสี่ล้อมีการปรับโฉมมากขึ้น โดยเรามุ่งไปในทางสร้างเกมมอเตอร์สปอร์ตของรถประเภทนี้ขึ้นมา” จุฑารัตน์ อุ้มญาติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาร์เก็ท มีเดีย แอนด์ เทเลวิชั่น จำกัด กล่าว
นอกจากรายการใหญ่ ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ในส่วนของกลุ่มชมรมออฟโรดต่าง ๆ ก็มีการจัดการแข่งขันเฉพาะกิจเพื่อการกุศลในทุกภูมิภาคตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยจะมีกลุ่มชมรมต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกลเทใจมาร่วมสร้างสีสันอย่างคึกคักมาตลอด
จะว่าไปแล้ว การแข่งขันรถออฟโรดมิเพียงเป็นทางออก เพื่อจุดยืนของคนออฟโรดส่วนใหญ่ที่มีจิตใจอนุรักษ์ธรรมชาติ หากทว่ายังส่งผลให้วงการออฟโรดมีความเป็นชุมชนสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นกว่าเดิม นั่นคือมีการเพิ่มคุณค่าของรถในเชิงกีฬา อันก่อให้เกิดมิติแห่งการประสานสัมพันธ์กันอย่างหลากหลายมากขึ้น

สูงสุดสู่ “ความแตกต่างที่เหนือกว่า”
หันมาดูทางด้านการพัฒนาตลาดรถ 4x4กันบ้าง จะเห็นได้ว่าในช่วงหลัง ๆ ความนิยมในรถ 4x4 มิได้ถูกจำกัดอยู่แค่กลุ่มผู้รักการท่องเที่ยวผจญภัย หรือกลุ่มที่นิยมท่องเที่ยวแบบลุย ๆ เท่านั้น หากแต่สมรรถนะของรถขับเคลื่อนสี่ล้อยังหมายถึงความปลอดภัยที่เหนือกว่าระบบขับเคลื่อนสองล้อ ส่งผลให้บรรดาผู้ผลิตมุ่งขยายฐานตลาดสู่กลุ่มครอบครัว ที่นับวันยิ่งต้องการใช้รถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ และปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิม
การมุ่งขยายเข้าสู่ตลาดครอบครัว ส่งผลให้รูปลักษณ์และสมรรถนะที่แตกต่าง เพราะตลาดกลุ่มนี้ต้องการห้องโดยสารกว้างกว่า ต้องการความปลอดภัยสำหรับสมาชิกทุกคนในครอบครัว ดังนั้นจึงนำไปสู่การเติบโตอย่างรวดเร็วของรถขับเคลื่อนสี่ล้อสายพันธุ์ SUV (SPORT UTILITY VEHICLE ) ส่งผลให้ยอดขาย KIA SPORTAGE รถขับเคลื่อนสี่ล้อจากเกาหลีรับช่วงความสำเร็จต่อจากค่ายไครสเลอร์ ตามด้วยความร้อนแรงของ HONDA CR-V ที่พุ่งแรงแซงหน้ารถ 4x4 ค่ายอื่น ครองแชมป์ยอดขายรถ SUV อยู่ 3-4 ปีติดต่อกัน
ปีนี้ตลาดรถ SUV กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง นับตั้งแต่การเปิดตัวรถอีซูซุ มิว-เซเว่น ตามด้วยโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ในช่วงปลายปีที่แล้ว ตามติดด้วยการเปิดตัวรถ นิสสัน เอ็กซ์-เทรล ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และปลายปีนี้ตลาดปิกอัพขับเคลื่อนสี่ล้อก็คงจะมีสีสันขึ้นมาอีก เมื่อมีการเปิดตัวมิตซูบิชิ สตราด้า “ไทรทัน” ที่ว่ากันว่าหุ่นกระชากใจคอปิกอัพเป็นอย่างยิ่ง...เรียกว่าตลาดในปีนี้ยังไปได้สวยทีเดียว
โฟร์วีลไดร์ฟไม่มีวันตาย
ถึงแม้ว่ายอดขายรถ 4x4 จะขึ้น ๆ ลง ๆ ตามเหตุปัจจัยต่าง ๆ แต่ความเคลื่อนไหวในแวดวงคนใช้รถ 4x4 ยังดำรงอยู่อย่างคึกคัก ทั้งกลุ่มที่ชอบลุยป่า และกลุ่มที่ชอบการแข่งขัน
กลุ่มที่ชอบเดินทางเริ่มมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น เส้นทางป่าในเมืองไทยอาจจะไม่เร้าใจสำหรับพวกเขาอีกต่อไป แต่การเดินทางไปพิชิตเส้นทางสายไหม ทิเบต หิมาลัย รวมทั้งเส้นทางใหม่ ๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการสร้างเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่อประเทศคืบหน้าไปมาก กำลังเป็นความท้าทายใหม่ที่หลายคนฝันถึงและไม่ไกลเกินฝัน…

นับมาถึงวันนี้ แวดวงของคนที่หลงใหลในรถโฟร์วีลไดร์ฟ ยืนยงมากว่าครึ่งค่อนศตวรรษแล้ว...และยังจะดำรงค์อยู่อีกนานแสนนาน...ถ้าจะพูดว่า โฟร์วีลไดร์ฟไม่มีวันตาย ก็ไม่น่าจะไกลเกินจริง








เครื่องมือในการใช้งาน website =>> สมัครสมาชิก | Login | Logout | เปลี่ยนไอคอนส่วนตัว | เกี่ยวกับเรา | ติดต่อโฆษณา         View stat by Truehits.net


   
   

คำตอบที่ 1
       ขอให้หนังสือขายดีดีนะคะ คุณธาดา



จาก น้อง ๆ แชมป์  202.183.217.28  พฤหัสบดี, 28/7/2548 เวลา : 15:22   


      

Since 22, Feb 2001 hit counter View My Stats  Truehits.net      วัน<%=WeekdayName(Weekday(Date))%>,<%=formatdatetime(date(),1)%> (Online <%=Application("OnlineUsers")%> คน)
                                       

เพื่อลดภาระของ ฐานข้อมูล ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก เพราะเวบเปิดมากว่า 10 ปี
จึงทำให้เวบช้าลงมาก ทีมงานจึงขออนุญาต แปลงข้อมูลจาก ฐานข้อมูลหลักเป็น SHTML File
เพื่อลดภาระการทำงานของ ฐานข้อมูลหลักครับ การแปลงฐานข้อมูลนี้ จะทำให้กระทู้นี้
ไม่สามารถตอบคำถามได้อีกต่อไปครับ แต่จะสามารถค้นหาชื่อกระทู้ และ Link ตรงมาที่หน้านี้ได้เหมือนเดิมครับ

ด้วยความนับถืออย่างสูง ทีมงาน Weekendhobby.com


Convert on : 26/8/2554 7:07:09

Error processing SSI file