คำตอบที่ 43
กาญจนบุรี-ทวาย ถนนแห่งอนาคต เส้นทาง"ทอง"ของไทย-พม่า
กาญจนบุรี-ทวาย ถนนแห่งอนาคต เส้นทาง"ทอง"ของไทย-พม่า
รายงาน
โดย ปิยรัชต์ จงเจริญ
"ประเทศไทยกับพม่ามีปัญหาชายแดนร่วมกันมาโดยตลอด เนื่องจากปัญหาชนกลุ่มน้อย ที่อยู่ในประเทศพม่ามีหลายกลุ่ม และยังมีชนเผ่าต่างๆ ในประเทศพม่าอีก 135 เผ่า มีภาษาที่ใช้สื่อสารระหว่างกันอีกกว่า 100 ภาษา แต่ชนกลุ่มน้อยซึ่งเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ที่ต้องการจะแยกตัวเป็นอิสระจากพม่ามี 7 กลุ่มด้วยกัน โดยเฉพาะ กะเหรี่ยงคริสต์ (เคเอ็นยู) ไทยใหญ่ มอญ และคะญา ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มที่มีปัญหากับพม่า จะอาศัยอยู่ใกล้กับชายแดนไทย
ปัจจุบันชนกลุ่มน้อยต่างๆ เริ่มที่จะทยอยเข้ามาร่วมมือกับรัฐบาลพม่ามากขึ้นตามลำดับ แต่จะมีเพียง 7 กลุ่มที่ว่าเท่านั้นที่ยังไม่ยอมลงรอยกับพม่า ซึ่งขณะนี้กลุ่มต่างๆ ใกล้จะปรองดองกันกับรัฐบาลพม่าแล้ว และเมื่อปรองดองกันได้ ก็จะเกิดผลดีต่อการปกครองประเทศพม่าเอง
ขณะเดียวกันพม่าก็พยายามรวบรวมกลุ่มต่างๆ มาร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นก็จะเกิดผลดีต่อความสัมพันธ์กับนานาชาติ โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งมีเขตแดนติดต่อกับประเทศพม่า เฉพาะเส้นทางทางบกมีระยะทางถึง 2,400 กิโลเมตร และยังมีทางทะเลอีก"
นี่เป็นคำบอกเล่าของ พล.อ.สนั่น ขจรกล่ำ เลขาธิการสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-พม่า ซึ่งถือเป็นผู้หนึ่งที่ได้ศึกษาเรียนรู้และสัมผัสกับประเทศพม่ามานาน และมีแนวทางที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่าให้เชื่อมโยงกันในทุกๆ ด้าน
โดยเฉพาะถนนสายกาญจนบุรี-ทวาย ซึ่งจะกลายเป็นถนนที่สามารถนำเม็ดเงินหลั่งไหลเข้าประเทศไทยเป็นจำนวนมหาศาลเลยทีเดียว!!!
พล.อ.สนั่นขานไขให้ฟังด้วยว่า จีนซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจในแถบนี้ เล็งเห็นว่าประเทศพม่ามีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์จำนวนมาก ที่สำคัญยังเป็นจุดเชื่อมทะเลอันดามันอีกด้วย จีนจึงยอมลงทุนตัดถนนเข้าไปในพม่า และดำเนินกิจการต่างๆ ในพม่ามากมาย ทำให้จีนเข้า-ออกพม่าได้อย่างสะดวกสบาย โดยเดินทางจากทางตอนใต้ของจีนเข้าสู่ทางเหนือของพม่า
ในเมืองพม่ามีสินค้าไทยวางจำหน่ายน้อยลงมาก หากเปรียบเทียบกับสมัยก่อน เพราะติดปัญหาที่การบริหารการค้าของไทยไม่สามารถสู้จีนได้ แต่ปรากฏว่าชาวพม่าส่วนใหญ่ชอบสินค้าไทย โดยจะพบว่าสินค้าของไทยนำเข้าไปขายใเท่าไรก็ขายได้หมด แต่สินค้าของจีนยังคงตกค้างอยู่ เพราะสินค้าของไทยมีคุณภาพดีกว่า และนี่จึงกลายเป็นโอกาสของคนไทย แต่จะต้องปรับกระบวนยุทธ์ทางด้านการตลาดเพื่อสู้กับสินค้าจีน
นอกจากนี้ไทยจะต้องเข้าไปสร้างความร่วมมือกับพม่าให้มากขึ้น แทนที่จะขับไล่พม่าให้ออกไป ซึ่งความจริงไทย-พม่าน่าจะร่วมมือกันได้ในหลายๆ ด้าน แต่ก็ยังไม่สามารถร่วมมือกันได้อย่างสนิทใจ ทั้งนี้อาจเกิดจากความขัดแย้งตามแนวตะเข็บชายแดน
พล.อ.สนั่นระบุด้วยว่า สำหรับหนึ่งในโครงการที่ไทยสามารถทำร่วมกันกับพม่าได้ คือเส้นทางเข้า-ออกพม่า ทั้งนี้เส้นทางเข้า-ออกระหว่างกันมีหลายเส้นทาง เช่น ทางเหนือสุดจะเป็นเส้นทางอำเภอแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ขึ้นไปถึงเมืองเชียงตุงของจีนได้ อีกด้านหนึ่งคือแม่สอด-เมียวดี ซึ่งรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนพม่าในการก่อสร้างถนนจากเมียวดีไปยังเมืองที่มีเขตติดต่อกัน ระยะทาง 28 กิโลเมตร และจะก่อสร้างระยะทางเพิ่มอีก 47 กิโลเมตร ไปจนถึงเมืองก๊อกเกล็ก เพื่อเป็นทางเชื่อมเข้าสู่เมืองย่างกุ้งในอนาคต
"อีกเส้นทางหนึ่งที่ผมมองว่าเป็นจุดที่เหมาะสม คือกาญจนบุรี-ทวาย เพราะพม่ามีโครงการที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกที่เมืองทวาย ซึ่งทะเลบริเวณดังกล่าวมีหาดทรายที่สวยงาม ในอนาคตเมืองทวายจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ติดต่อค้าขายกันได้สะดวก และจะเป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าจากฝั่งทะเลอันดามันเข้ามายังเมืองทวาย หากฝั่งไทยมีถนนหนทางดี สามารถเดินทางจากทวายเข้ายังเมืองกาญจน์ และเข้ากรุงเทพฯ หรือจะไปยังจังหวัดต่างๆ ก็จะทำให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น"
พล.อ.สนั่นเน้นกล่าวก่อนร่ายยาวว่า ทางพม่าได้อนุมัติโครงการนี้ตั้งแต่สมัย พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ ซึ่งได้บริหารโครงการนี้มาโดยตลอด จนกระทั่งตกลงที่จะให้สร้างเส้นทางจากทวายมายัง จ.กาญจนบุรี บริเวณบ้านพุน้ำร้อน แต่ปรากฏว่าทำไม่สำเร็จ เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ประกอบกับปัญหาชนกลุ่มน้อยในพม่า
ปัจจุบันเส้นทางยังไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ แต่จะเดินทางด้วยรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ บนเส้นทางดังกล่าวไปยังเมืองทวายได้ในช่วงหน้าแล้งเท่านั้น
ทั้งนี้ ถนนทางฝั่งไทยได้ลาดยางถึงบริเวณชายแดนบ้านพุน้ำร้อนแล้ว แต่จากบ้านพุน้ำร้อนเข้าไปยังพม่าได้กรุยทางเข้าไปเพียง 10 กิโลเมตรเท่านั้น ส่วนทางฝั่งพม่าได้ก่อสร้างทางจากเมืองทวาย-บ้านเมตตา เพียง 30 กิโลเมตร
ขณะนี้สัมปทานได้หมดลง จึงต้องมาร่วมกันนั่งวางแผนใหม่ เพื่อเดินหน้าโครงการนี้อีกครั้ง ซึ่งหากเส้นทางเสร็จสมบูรณ์จะสามารถลำเลียงสินค้ามาตามเส้นทางทวาย-กาญจนบุรี เพียงระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร และเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ ด้วยระยะทางอีกเพียง 130 กิโลเมตร ซึ่งเส้นทางจะเป็นพื้นราบ ทำให้การเดินทางสะดวกสบาย ที่สำคัญใช้เวลาในการเดินทางเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
"เส้นทางสายกาญจนบุรี-ทวาย จะทำให้ไทยกลายเป็นสิงคโปร์แห่งที่ 2 สามารถสร้างความเจริญทั้งแหล่งท่องเที่ยว แหล่งค้าขายสินค้า และแหล่งทรัพยากรต่างๆ มากมาย ซึ่งจะสามารถสร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาล" พล.อ.สนั่นกล่าว และว่า ซึ่งบริษัทในประเทศพม่าก็ยินดีร่วมงานกับไทยเพื่อผลักดันเส้นทางนี้ ขณะเดียวกันทุนจากประเทศต่างๆ พร้อมที่จะช่วยเหลือพม่า แต่ติดปัญหาจากประเทศมหาอำนาจ จึงทำให้เงินทุนที่จะเข้าไปช่วยเหลือพม่าเป็นไปด้วยความยากลำบาก
เลขาธิการสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-พม่า ทิ้งท้ายว่า รัฐบาลที่ผ่านมาของไทยอยากเห็นเส้นทางนี้เกิดขึ้น ซึ่งตนมั่นใจว่ารัฐบาลปัจจุบันก็คงเห็นด้วยอย่างแน่นอน ดังนั้นตนจะได้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาต่อไป
ภาพ/ข่าว : นสพ. มติชน