จาก MUDROCK GROUP
จันทร์ที่ , 16/8/2553
เวลา : 20:41
อ่าน = 1608
61.19.65.182
|
ต้องแจงรายละเอียดเกี่ยว กับสถานที่ ก่อนน่ะครับ ขอบคุณรายละเอียด จากคมชัดลึึก
คมชัดลึก :วัด พระบรมธาตุดอยผาส้ม ต.แม่สาบ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ตั้งอยู่บนยอดดอยผาส้ม สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ๑,๑๐๐ เมตร อากาศหนาวเย็นมาก หน้าแล้งต้องผจญกับไฟป่า อันเนื่องมาจากพื้นที่ป่าโดยรอบเป็นป่าเต็งรังผลัดใบผสมกับป่าสนเขา จึงมีเชื้อไฟป่ามากมายตามฤดูกาล เป็นขุนต้นน้ำแม่ขาน และมีน้ำไหลฤดูฝนฤดูเดียว
เดิมทีนั้น วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม เป็นวัดร้าง ขณะเดียวกันพื้นที่ป่าโดยรอบก็ถูกทำลายทั้งไฟป่าและการทำไร่ แต่เมื่อ พระสรยุทธ ชยปัญโญ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "หลวงพี่โต้ง" มาจำพรรษา ณ วัดแห่งนี้ วัดก็มีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ รวมทั้งสภาพป่ารอบวัดก็ได้รับการฟื้นฟูชนิดที่เรียกว่า "จากหน้ามือเป็นหลังมือ" เลยทีเดียว
สิ่งปลูกสร้างภายในวัด และต้นไม้ทุกต้น ล้วนมาจากน้ำพักน้ำแรงที่ท่านลงมือปลูกด้วยตนเองเกือบทั้งหมด
หลวงพี่โต้ง เล่าให้ฟังว่า เกิดที่กรุงเทพฯ หลังเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ปริญญาโทด้านเดียวกัน จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยทำงานเวิลด์แบงก์ และสายการบินในอเมริกาอย่างหรูหรา เงินเดือนท่วม สวัสดิการเพียบ ได้ไปท่องเที่ยวหาความสุขมาทั่วทุกทิศแล้ว ขึ้นเครื่องบินฟรี จะไปไหนก็ได้ แต่ไปแล้วก็รู้สึกงั้นๆ แหละ บางทีนั่งเครื่องบินไปไกลแสนไกล หมดเวลาไปหลายชั่วโมง แต่เมื่อท่านลงไปเดินสนามบินแล้ว ก็กลับขึ้นเครื่องบินกลับมาที่เดิมอีก จนกัปตันเครื่องบินงงว่า "มาทำไมอีก"
หลังจากได้ใช้ชีวิตกิน อยู่ และท่องเที่ยวมาเกือบทั่วทุกมุมโลก แต่สิ่งที่ได้มานอกจากความสุขเพียงแค่ได้เห็น ได้กิน และสุดท้ายก็คือ ความว่างเปล่า ไร้สาระ สิ่งที่ท่านค้นหาอยู่ มันไม่ใช่เส้นทางสายนี้ และก็ไม่เข้าใจว่า ตัวตนเองนั้นต้องการสิ่งใดกันแน่หรือ เกิดความสับสนในจิตใจ เกิดความเบื่อหน่าย และเกิดความรู้สึกกังวลว่า อะไรคือสิ่งที่ท่านต้องการ
วันหนึ่ง ไปช่วยพี่ขนย้ายสิ่งของ แล้วมีหนังสือธรรมะเล่มหนึ่งตกอยู่ ก็เก็บเหน็บกระเป๋ากลับมาด้วย แล้วมานั่งอ่าน ระหว่างรอเครื่องบิน จึงได้รู้ว่า เป็นหนังสือของหลวงพ่อชาชื่อ บ้านที่แท้จริง
เมื่อได้อ่านหนังสือ ก็เกิดความศรัทธา และเกิดความอยาก ต้องการที่จะเข้าสู่เส้นทางธรรม ประกอบกับเกิดเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ อเมริกาก็ปลดคนงานออก เห็นคนหอบลูกจูงหลานมาร้องขอทำงานต่อ ดูน่าสังเวช และอยู่มาวันหนึ่ง ได้พบท่านพระอาจารย์ทูล ได้เสวนากันแล้วว่า เกิดมาแล้วไม่มีความสุข
ท่านพระอาจารย์ทูลตอบกลับว่า แล้วเสือกมาเกิดทำไม เมื่อเอ่ยวาจาขอบวช ท่านก็ไม่ให้บวช แต่ให้ไปปฏิบัติธรรมก่อนปีครึ่ง จึงบินกลับประเทศไทย ไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่าบ้านค้อ กับพระอาจารย์ทูล ๓ ปี ในที่สุดก็ได้บวชในประเทศอเมริกา เมื่อพ.ศ.๒๔๔๕ ได้ฉายาว่า พระสรยุทธ ชยปัญโญ
"ฉันไม่ได้บวชมาเพื่อสร้าง อยากเห็นการบูรณะพระธาตุเสร็จ ก็มาช่วยกันแล้วกัน ได้แต่บอกกล่าวญาติโยมว่า เราได้แต่ไปไหว้พระธาตุที่คนอื่นสร้างไว้ วันนี้ถ้าเรามาช่วยกันสร้างพระธาตุองค์นี้ให้เสร็จ ก็จะมีพุทธศาสนิกชนคนพุทธมากราบไหว้พระธาตุที่เราร่วมกันสร้างต่อไปอีกนับ พันๆ ปี" นี่เป็นเหตุผลที่หลวงพี่โต้งมาจำพรรษาที่วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม และเริ่มการบูรณะพระบรมธาตุเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘
วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม เป็นพระธาตุที่ครูบาศรีวิชัย และครูบาอุปาละ ได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างไว้ราวๆ พ.ศ.๒๔๗๔
หลังจากหลวงพี่โต้งได้ร่วมกับชาวบ้านพัฒนาให้ดูสะอาดตา ศรัทธาหลั่งไหลมาไม่ได้ขาด บางคนว่า ฝันถึงแล้วพบในแผ่นพับที่เสียบๆ ไว้ก็เลยขึ้นมา บอกว่าใช่เลย ฝันถึงพระธาตุองค์นี้แหละ บางคนก็เพื่อนชวนมา ตอนนี้การสร้างทั่วไปเสร็จแล้ว เป็นมณฑปจตุรมุข ยกพระธาตุองค์เดิมขึ้นไปไว้ข้างบนอีกชั้นหนึ่ง ได้รับพระราชทานพระบรมธาตุมาจากสมเด็จพระสังฆราช เพื่อนำมาบรรจุไว้ พร้อมกับพระกริ่งพุทธนิมิต ๔,๐๐๐ องค์ เหลือเพียงยอดฉัตรสเตนเลส กำลังแกะสลักอยู่ คงปีหน้าน่าจะได้ยกฉัตรขึ้นประกอบ
"ฉันพัฒนาวัด โดยยึดหลักแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง 'บวร' อันหมายถึง บ้าน วัด และโรงเรียน ฉันได้ก้าวลงจากยอดดอยสูงลงมา เพื่อร่วมกันพัฒนาอาชีพชาวบ้าน เปลี่ยนวิถีชีวิตจากการจมอยู่กับยาสารเคมี มาเป็นใช้ชีวิตร่วมกันกับอินทรียวัตถุ การสร้างสารเร่งจากธรรมชาติ แม้กระทั่งการผลิตน้ำยาล้างจานอินทรีย์ใช้เอง" นี่คือหลักการพัฒนาวัดของหลวงพี่โต้ง
นอกจากพัฒนาวัดแล้ว หลวงพี่โต้งยังได้ดำเนินงานหลัก การจัดการป่าต้นน้ำ การอนุรักษ์น้ำด้วยฝายแม้ว อันเป็นแนวทางจากพระราชดำริอีกเช่นกัน
งานนี้เหนื่อย เพราะว่าพื้นที่ป่าโดยรอบแล้งเมื่อแล้ง ร้อนเมื่อร้อน และเปียกชุ่มเพียงเมื่อฝนมา น้ำฝนตกลงมาแล้วก็ไหลเลยไปหมด ป่าลักษณะนี้เก็บน้ำไว้ได้ตามฤดูกาล จึงต้องช่วยด้วยฝายไม้กว่าพันฝาย ฝายหินยาปูน (ฝายลูกกรอก) อีกนับหลายร้อย ตั้งแต่ใต้น้ำจนถึงขุนต้นน้ำ โดยเน้นห้วยบนเป็นหลัก แล้วก็ปลูกต้นไม้ป่าเมืองไทยใส่เข้าไปอีกเช่น ตะเคียนทอง ยางนา สัก แหน ประดู่ จันทอง การบูร กฤษณา ฯลฯ
หลวงพี่โต้งได้สร้างฝายกักตะกอนด้วยไม้ไผ่จากวัสดุในป่า กรองกิ่งไม้ หิน ไว้ชั้นหนึ่ง แล้วสร้างฝายหินยาปูนกักตะกอนทราย และดินที่ถูกกัดชะพังทลายมาตามน้ำฝนไว้อีกชั้นหนึ่ง น้ำที่กักด้วยฝายได้ไม่มาก แต่ด้วยความถี่ของฝายที่สร้าง กลับทำให้น้ำชะลอการไหลเลยลงไป ความชุ่มชื้นในดินที่อยู่แวดล้อมฝายจึงมีมากขึ้น เรียกว่า ป่าเปียกชื้นขึ้น ลดแรงการไหลเลยลงสู่ที่ต่ำ ความชื้นสัมพัทธ์ก็ย่อมมีอยู่ในชั้นบรรยากาศนานมากขึ้น
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า หลวงพี่โต้ง เป็นส่วนหนึ่ง บทพิสูจน์สัจธรรมความจริงเรื่อง เงิน เกียรติยศ และศักดิ์ศรี มิได้มีความหมายใดๆ หากแต่อยู่ที่ ใจ ตนเองต่างหากที่ดำรงไว้ให้เกิดความเป็น คน ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่า หลวงพี่โต้งพระหนุ่มนักเรียนนอก ผู้มีอันเหลือจะกินจะลงมาใช้ชีวิตเป็นพระนักพัฒนาตามแนวพระราชดำริได้อย่าง มั่นใจ สร้างความมั่งคงให้แก่ชาวบ้าน เป็นมิ่งขวัญของคนบ้านป่าเมืองดอยในเขต อ.สะเมิง ได้อย่างน่าเคารพนับถือ
ทุกๆ เช้า ท่านจะนั่งรถออกไปบิณฑบาตจากหมู่บ้านที่อยู่ห่างจากวัดประมาณ ๕ กม. ทั้งนี้ท่านจะฉันอาหารเพียงวันละมื้อเท่านั้น
"ฉันพัฒนาวัดโดยยึดหลักแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง 'บวร' อันหมายถึง บ้าน วัด และโรงเรียน เปลี่ยนวิถีชีวิตจากการจมอยู่กับยาสารเคมี มาเป็นใช้ชีวิตร่วมกันกับอินทรียวัตถุ"
|