จาก eco-boy 203.144.214.65
ศุกร์ที่ , 24/8/2544
เวลา : 00:58
อ่านแล้ว = 609 ครั้ง
|
ขอรบกวนหน่อยนะ..แต่ไม่ได้ก่อกวน จริงๆ ไม่ได้โม้
.......................................................................................แถลงการณ์
กรณี คาราวานออฟโรด ปล่อยเป็ดก่าคืนสู่ธรรมชาติ
ที่หน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได
สืบเนื่องจากที่ กรมป่าไม้ได้ออกหนังสือ ที่ กษ.0712/16853 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 เรื่อง โครงการปล่อยเป็ดก่าคืนสู่ธรรมชาติ ไปยังบริษัทเอกชน เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว โดยกรมป่าไม้อ้างว่า เพื่ออนุรักษ์พันธุ์เป็ดก่าไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และเป็นการเพิ่มจำนวนประชากรเป็ดก่า ในธรรมชาติให้มีจำนวนมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นแนวทางในการศึกษาวิจัยการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาตินั้น
ทั้งนี้ ได้มีบริษัทเอกชนตอบรับการเข้าร่วมโดยจัดกิจกรรม ที่ใช้ชื่อว่า "โครงการปล่อยเป็ดก่าคืนสู่ธรรมชาติ
ที่ห้วยขาแข้ง" โดยจัดเป็นคาราวานรถออฟโรด จำนวน 20 คัน แต่ละคันจะนำผู้โดยสารไปด้วยไม่เกิน 4 คน ระหว่างวันที่ 25 - 26 สิงหาคม 2544 และวันที่ 13 - 14 ตุลาคม 2544 เข้าสู่หน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ใจกลางป่า ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยบริษัทได้ขึ้นคำโปรยหัวเพื่อการประชาสัมพันธ์ว่า
" อาจจะกล่าวได้ว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นมรดกโลกแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณผืนป่าชั้นในของห้วยขาแข้ง ยากนักที่ประชาชนส่วนใหญ่จะได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัส กับความเป็นธรรมชาติและผืนป่าอันกว้างใหญ่ที่สมบูรณ์ อีกทั้งสัตว์ป่าที่หายากนานาชนิด อาทิ เสือ กระทิง วัวแดง ช้าง ควายป่า นกยูง และนกชนิดต่าง ๆ"
ข้อความประชาสัมพันธ์เช่นนี้ เป็นการเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมพยุหะ จ.นครสวรรค์ ชมรมพิทักษ์สิ่งแวดล้อม จ.อุทัยธานี และกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ จ.กาญจนบุรี จึงขอเรียกร้องให้กรมป่าไม้และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรม คาราวาน "โครงการปล่อยเป็ดก่าคืนสู่ธรรมชาติ" ได้ทบทวนการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพราะการนำคน พร้อมยานพาหนะจำนวนมาก เข้าไปในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความเปราะบาง เช่นหน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได อาจส่งผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า หากได้รับการรบกวนจากกิจกรรมที่ไม่จำเป็นของมนุษย์โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเวลาหากินของสัตว์บางชนิด แม้ว่าจะเป็นเพียงเสียงเครื่องยนต์ การพูดคุยกันก็ตาม
เนื่องจากพื้นที่เขาบันไดถือเป็นพื้นที่ใจกลางป่าห้วยขาแข้ง และมีความสำคัญที่สุด
นอกจากนี้ทางมูลนิธิ ฯ และองค์กรเครือข่ายเกรงว่า การจัดกิจกรรมลักษณะนี้ อาจจะเป็นการสร้างมาตรฐานให้กับกลุ่มองค์กรอื่นในการเข้าไปใช้พื้นที่อนุรักษ์ จัดกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยไม่จำเป็น
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กรมป่าไม้ซึ่งมีหน้าที่ดูแล คุ้มครองและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ จะหันกลับมาทบทวนการดำเนินกิจกรรมแต่ละโครงการของกรมป่าไม้ ให้เกิดความสอดคล้องกับพื้นที่และไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อทรัพยากรธรรมชาติอีก
23 สิงหาคม 2544
โดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ฯ
กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมพยุหะ จ.นครสวรรค์
ชมรมพิทักษ์สิ่งแวดล้อมอุทัยธานี จ.อุทัยธานี
กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ จ.กาญจนบุรี
|