พุธ,1 มกราคม 2568
 
มีคนอ่านแล้ว 37855 คน [ Home ]
 


Flap สำหรับเครื่องบินเล็ก
โดย คุณดุสิต

      วันนี้เรามาคุยกันเรื่องเบาๆเกี่ยวกับ Flap เครื่องบินใครมี Flap บ้าง ใครใช้ Flapในการบินลงหรือบินผาดแผลงบ้าง ใครบ้างที่ชอบเปิด Flap ให้กางตอนTaxi กลับเข้า Pit แต่ตอนบินลงไม่เคยใช้เลย ผมเชื่อว่าเกือบทุกคน น่าจะเคยเห็น อุปกรณ์ตัวนี้มาบ้าง ไม่จากเครื่องบินเล็กก็คงต้องเคยเห็นจากรูปเครื่องบินจริงๆ เช่นเครื่องบินโดยสารทั่วๆไป ตอนที่มันกำลังบินลง สังเกตที่บริเวณโคนปีก กาง Flap หรามาเลย
      จะมีใครเถียงไหมว่า ตอนเครื่องบินเล็กกำลังทอดตัวเพื่อทำการบินลงสนามเป็นสิ่งที่สวยงามมาก มุม Approaches ที่พอดี ความเร็วที่เหมาะสม ทิศทางที่ถูกต้อง ทำการ Flare อย่างสวยงาม ลงตรงจุดที่กำหนดและนุ่มนวล ฯลฯ เพื่อให้ได้มา ในสิ่งเหล่านี้ การ Landing จะเป็นส่วนที่ยากที่สุดในการบินแบบธรรมดา อย่าคิดว่าการ Landing คือการนำเครื่องบิน กลับลงมาอย่างปลอดภัยเท่านั้น การบินลงแบบโครมๆๆๆหรือลงแต่ละทีคนทั้งสนามต้องหันมามอง ไม่ใช่ลงได้สวย แต่ต้องเตรียมวิ่งหลบ ผมเห็นนักบินหลายคนที่มีความสามารถในการบินท่าผาดแผลงในอากาศอย่างดีเยี่ยม แต่พอนำเครื่องบินลงเท่านั้นละ คะแนนที่ทำไว้ตะกี้หายหมดเลย มีลักษณะการบินธรรมดาหลายๆอย่างที่เรามักมองข้ามกัน ที่สำคัญการLandingให้สวยงามจำเป็นต้องมีการฝึกฝน ไม่ได้มาง่ายๆ
     ในการ Landing นักบินต้องควบคุม มุม approach, ระยะ, ความสูง, อัตราการร่วงหล่น [descent rate] ,และทิศทางของเครื่องบิน ให้เข้าสู่สนามบินหรือจุดที่จะทำการลง แต่เราไม่มีเครื่องมืออะไรเลย ที่จะมาบอกว่า เครื่องบินมีความเร็วเท่าไร อัตราการร่วงหล่นเป็นเท่าไร เครื่องวัดที่จะแจ้งอาการStallของเครื่องบินก็ไม่มีฯลฯ ดังนั้นตัวเครื่องบินจึงจำเป็นต้องมีคุณลักษณะในการบินที่ดีโดยเฉพาะความสามารถในการบินที่ความเร็วต่ำๆ และคุณลักษณะในการStallของเครื่องบิน
     เรามาดูกันว่าอาการStallของเครื่องบินคืออะไร
     เมื่อเครื่องบินบินอย่างปกติกระแสการไหลของอากาศที่ไหลผ่านตัวปีกจะไหลผ่านปีกอย่างราบเรียบ แรงยกจะมีขนาดเท่ากับน้ำหนักของเครื่องบิน โดยปีกจะมีมุมปะทะ [angle of attack] [ประมาณไม่เกิน 5 องศา] แต่ถ้าเราบังคับให้เครื่องบินบินช้าลงแรงยกของปีกจะลดลงเพราะความเร็วของอากาศที่ไหลผ่านผิวปีกมีความเร็วลดลง เพื่อให้เครื่องบินยังคงรักษาความสูงไว้ได้ เราจำเป็นต้องเพิ่มมุมปะทะของปีกเครื่องบินขึ้นไปอีกเพื่อให้ปีกมีแรงยกมากขึ้น ถ้าเราเพิ่มมุมปะทะของปีกไปถึงจุดๆหนึ่ง [ประมาณ 12-15 องศาแล้วแต่ชนิดของ airfoil ] อากาศที่ไหลผ่าน ด้านบน ของปีกจะมีการไหลที่ไม่ราบเรียบอีกต่อไป [Turbulence] ณ.จุดนี้แรงยกของปีกก็จะหมดไปทันที เราเรียกอาการขณะนี้ว่า Stall อาการ Stall ของเครื่องบินจะมีสองแบบ Safe stallและ Tip stall

      เมื่อปีกเครื่องบินเริ่มมีอาการStall การStallไม่ได้เกิดพร้อมกันทีเดียวทั้งปีก อาการ stall จะเริ่มเกิดที่บริเวณชายหลัง ของปีกก่อนแล้วจะค่อยๆเคลื่อนที่ไปข้างหน้า อาการ stall อาจจะเริ่มเกิดจากบริเวณโคนปีกเครื่องบินก่อน หรืออาจจะเริ่ม เกิดจากบริเวณปลายปีกก่อนก็ได้ ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของปีก ถ้าอาการ stall เริ่มต้นเกิดจากบริเวณโคนปีก เราเรียกอาการนี้ว่า Safe stall แต่ถ้าอาการstallเริ่มต้นเกิดจากบริเวณปลายปีกเราเรียกอาการนี้ว่าTip stall
      Safe stall คือการ stall ที่เริ่มต้นเกิดจากบริเวณโคนปีกก่อนแล้วจะค่อยๆเคลื่อนที่ไปข้างหน้า เครื่องบินไม่มีอาการเอียง ไปทางซ้ายหรือเอียงไปทางขวา Aileron ยังคงมีประสิทธิภาพในการควบคุมการ Roll เครื่องบินจะค่อยๆสูญเสีย ความสูงลงมาแต่ยังอยู่ในการควบคุม
       Tip stall คือการstallที่เริ่มต้นเกิดจากบริเวณปลายปีกก่อนแล้วจะค่อยๆเคลื่อนที่ไปข้างหน้า อาการ Stall จะเริ่มเกิดในบริเวณของ Aileron ทำให้ Aileron หมดประสิทธิภาพในการควบคุมการ Roll ตามปกติถ้าปีกกำลังเกิดTip stall การ stall จะเกิดไม่พร้อมกันในปีกทั้งสองข้าง ปีกข้างใดข้างหนึ่งจะ Stall ก่อนอีกข้างเสมอ ปีกข้างที่ Stall ก่อนจะเอียงลงมา เครื่องบินจะ Snap และตกทันที อย่าลืมว่าเครื่องบินกำลังอยู่ในช่วงการ approach ดังนั้นเครื่องบินมีความสูง ไม่มากพอที่จะแก้ไขอาการ Snap ต่อไปก็เรียกใช้บริการถุงดำได้เลย เพื่อนผมคนหนึ่ง ฝีมือพอตัว เครื่องบิน เขาเครื่องยนต์ดับ เขาพยายามบังคับเครื่องบินให้กลับมาลงที่สนามให้ได้เพราะมีความสูงมากพอ ในช่วงที่เครื่องกำลัง approach เข้าสู่หัวสนาม ดูตามรูปการแล้วคงจะไม่มีปัญหา เขาพยายามหิ้วเครื่องบินมากเกินไปเพราะจะให้ถึงสนามให้ได้ ทันใดนั้นเครื่องบินก็เข้า Snap ทันที เจ้าคนบังคับยังยืนอ้าปากค้างอยู่เลยตอนเครื่องบินม้วนตกถึงพื้น 'บินอยู่ดีๆ มันม้วนตกมาดื้อๆ บังคับอะไรไม่ได้เลย ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าขณะที่เครื่องบิน Snap เพราะอาการ Tip stall ในช่วงเวลานั้นอย่าคิดว่าจะสามารถบังคับหรือแก้ไขอะไรได้ เครื่องบินในสภาพตอนนั้นไม่ผิดไปจากก้อนหินเท่าไร
เรามีวิธีในการควบคุมการเกิด Stall ให้เป็นแบบ Safe stall ได้หลายวิธีเช่นการทำ Washout, NASA Leading Edge Dropped Cuff, Wing fences, Slots and slats, Stall strips และการใช้ Flaps

    เครื่องบินทั่วๆไปจะมี Flap อยู่ช่วงในของปีก [Inboard flaps] และมี Ailerons อยู่ด้านนอกของปีก [Outboard aileron] Flap มีหน้าที่หลายอย่าง เมื่อกาง Flap ลงเล็กน้อยมันจะทำให้ปีกมีแรงยกมากขึ้น ช่วยในการ Takeoff หรือการบิน แบบช้าๆ ได้ง่ายขึ้น เมื่อกาง Flap ลงมามากๆมันจะทำให้เกิด Drag มากกว่าแรงยกที่เพิ่มขึ้น
      เมื่อเราทำการกาง Flap ลงมาจะทำให้ปีกบริเวณนั้นมีแรงยกเพิ่มขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพราะ Flap จะทำให้ปีกบริเวณนั้น มีคุณลักษณะ เหมือนกับว่ามันมีมุมปะทะของปีกเพิ่มขึ้น

     ตัวต้นเหตุของ Stall คือมุมปะทะของปีกไม่ใช่ความเร็วของเครื่องบิน ดังนั้นเครื่องบินที่มีความเร็วสูง ก็มีโอกาสเกิด Stall ได้เหมือนกัน [High speed stall] แต่เครื่องบินที่มีความเร็วต่ำๆมีโอกาสเกิด Stall ได้ง่ายกว่าเมื่อบินด้วยมุมปะทะของปีกสูงๆ เมื่อเครื่องบินมีความเร็วลดลง เราจะบังคับให้ปีกมีมุมปะทะที่สูงขึ้นเพื่อให้ปีกมีแรงยกมากขึ้น บริเวณปีกด้านในที่ Flap กางลงมา จะมีมุมปะทะสูงกว่าปีกส่วนอื่น ทำให้ปีกบริเวณนี้เกิดอาการ Stall ก่อนส่วนอื่นของปีก จะเห็นได้ว่า Flap จะทำให้ปีกมีคุณสมบัติเหมือนกับปีกที่มี Washout การเกิด Stall ของปีกจะเป็นแบบ Safe stall
     เรามาดูว่า Flap ทำอะไรให้เราได้บ้าง

    ข้อแรก ถ้าเรากาง Flap เป็นมุมไม่มากนักคือประมาณ10-25 องศา Flap จะให้แรงยกมากขึ้นแก่ปีกเครื่องบิน โดยที่ drag มีค่าไม่สูงมากจนเกินไป ทำให้เครื่องบินสามารถบินได้ช้าลง แต่ยังสามารถรักษาความสูงเอาไว้ได้ ทำให้เครื่องบินมี Take off และ Landing speedsต่ำลง

          ข้อที่สอง  ถ้าเรากาง Flap เป็นมุมที่มากขึ้นคือประมาณ 30-45 องศา ตัว Flaps จะให้เกิด drag มาก ซึ่งเป็นคุณลักษณะ ที่จำเป็นสำหรับเครื่องบินบางชนิดเช่น เครื่องบินที่มี wing loads สูงๆหรือเครื่องบินที่มี drag ที่ค่อนข้างต่ำเช่น พวกเครื่องร่อน เครื่องบิน Pattern หรือเครื่องบิน Duct fan เครื่องบินจะมีความเร็ว Landing ต่ำลงและสามารถทำการ Approach เป็นมุมที่ค่อนข้างชันกว่าปกติโดยความเร็วไม่ได้เพิ่มขึ้น


        ข้อที่สาม ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่สำคัญที่สุด Flap ทำให้ปีกเครื่องบินมีคุณสมบัติ Washout ทำให้เครื่องบินมีคุณสมบัติของ Safe stall
           ข้อที่สี่ Flap บางชนิดเช่น Fowler flap ทำให้มีพื้นที่ปีกเพิ่มมากขึ้นเป็นผลให้เครื่องบินมี Wing loads ต่ำลง

     Flaps มีอยู่หลายแบบเช่น Plain flap, Split flap, Slotted flap, Fowler flap ที่เรานิยมใช้สำหรับเครื่องบินเล็กก็คงเป็น Plain flap ส่วน Split flap ก็มีให้เห็นอยู่บ้างเช่นพวกเครื่องบิน P-40 ของ Top Flite ส่วน Slotted flap จะเห็นในเครื่องบิน Cessna 182 Skylane ของTop Flite ส่วน Fowler flap ไม่ค่อยนิยมนำมาใช้สำหรับเครื่องบินเล็กอาจจะเพราะสร้างยาก มักจะพบ Flaps แบบนี้ในเครื่องบินที่ต้องการ Scale แบบสุดๆเช่น P-38 Lighting
  • Plain flap เป็น Flapที่ค่อนข้างใช้ได้ดี ให้ทั้งแรงยกและแรงต้าน
  • Split flap Flapที่ให้แรงยกน้อยแต่ให้แรงต้านมาก
  • Slotted flap ถ้ากางไม่มากจะให้แรงยกที่สูง แต่ถ้ากางลงมากๆจะให้แรงต้านที่สูงด้วย
  • Fowler flap ทำให้ปีกมีแรงยกสูงมากขึ้นเพราะทำให้พื้นที่ปีกมีมากขึ้น
       
และยังมี Flaps อีกชนิดหนึ่งคือ Flaperons
      Flaperons คือการทำให้ Ailerons แต่ละข้างเป็นอิสระจากกันโดยแต่ละข้างจะมี Servo เป็นของตัวเอง โดยตัวหนึ่งจะใช้ CH1 อีกตัวใช้ CH6 เมื่อสั่งให้ Function ทำงาน Ailerons ทั้งสองข้างจะทำงานตามปกติ แต่ถ้าสั่งให้กาง Flap แผ่น Ailerons ทั้งสองข้างจะกางลงพร้อมๆกัน เครื่องบินที่จะนำมาทำ Flaperon sจะต้องมี Aileron แบบ Full span [Strip Ailerons] เน้นว่าต้องเป็น Aileron แบบนี้เท่านั้น Outboard ailerons เช่นพวก J-3, L-4 จะนำมาทำ Flaperons ไม่ได้เด็ดขาด เพราะว่าปีกแบบ Outboard ailerons เมื่อให้ Flaps กางลง แผ่น Ailerons ของปีกทั้งสองข้างจะกางลง ทำให้ปีก ของเครื่องบินมีคุณลักษณะเหมือนปีกมี Wash-In เมื่อปีกเริ่ม Stall บริเวณปลายปีกจะเริ่ม Stall ก่อน [Tip stall] ก็เข้าทางพอดี นาย Snap เขานั่งรออยู่นานแล้ว แต่ในเครื่องบินบางชนิด Outboard ailerons ก็สามารถทำเป็น Flaperons ได้ ถ้าปีกอันนั้นมี Inboard Flaps ติดตั้งอยู่ด้วย และต้องให้ Outboard aileron กางลงน้อยกว่า Inboard Flap เพื่อให้ปีกมีคุณลักษณะของ Wash-Out จะพบการใช้งานแบบนี้ในพวกเครื่องร่อนประสิทธิภาพสูง ปกติเรานิยมใช้ Function นี้พร้อมกับ Function Elevator-Flap ในเครื่องบิน Fun Fly ถ้าตั้งค่าให้ดีๆเครื่องบินจะสามารถ Loop เหมือนกับคนหงายหลังตีลังกา แต่ถ้าเผลอไปสั่งให้ Flaperons กางลงจะอันตรายมาก โอกาสที่เครื่องบินจะ Tip Stall มีสูงมาก ผมเคยเสียเครื่องบิน Fun fly ไปตัวหนึ่ง เพราะดันทะลึ่งไปกาง Flaperons ลงมาตอนกำลังบินลง Snap พังเป็นชิ้นๆ

       ต่อไปก็เป็นเรื่องวิธีใช้ Flap กับเครื่องบินเล็ก บอกได้เลยการใช้ Flap ไม่ยากและไม่อันตราย ถ้าเรารู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อกาง Flap ถ้าคุณใช้เป็นแล้วคุณจะคิดเหมือนผมว่า จะ Landing ได้อย่างไรโดยไม่ใช้ Flap ผมมักพูดอยู่เสมอๆว่า Flap เป็นสิ่งเสพติด ถ้าใช้มันเป็นแล้วคุณจะขาดมันไม่ได้
       การ Setup Flap ปกติจะทำไว้สองค่า ค่าหนึ่งสำหรับ Takeoff จะกางประมาณ 10-25 องศา และอีกค่าสำหรับ Landing จะกางประมาณ 30-45 องศา เรามีวิธีสำหรับบังคับให้ Flap กางได้หลายวิธี เรามาดูกัน
        สิ่งแรกที่คุณต้องมีคือ Computer Radio ที่มีช่องสัญญาณอย่างต่ำ 6 Channel ที่สำคัญต้องดูก่อนว่า ในคู่มือของวิทยุที่คุณใช้เขาให้ Flap ไปอยู่ที่ Channel ไหนปกติเรามักจะให้อยู่ที่ CH 6 เพราะถ้าเราอยากให้ Function Landing Attitude [Air Brake] หรือ Elevator-Flapทำงาน จำเป็นต้องให้ Flap ไปอยู่ถูก Channel ที่เขากำหนดไว้ อยากให้ทุกคนอ่านคู่มือให้เข้าใจโดยเฉพาะเรื่องการทำ Landing Attitude [Air Brake], Elevator-Flap และที่สำคัญมากๆเรื่องการ Programmable Mixing เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องไม่ยาก นั่งลงใจเย็นๆ อ่านคู่มือและค่อยๆ ทดลองใช้ Function ต่างๆ ค่อยๆเปลี่ยนค่าแล้วดูผลที่เปลี่ยนแปลง อย่าไปกลัว การ Program ใน Computer Radio เป็นสิ่งที่สนุกมาก ใช้มันให้คุ้มกับราคาอันแสนแพงของมันหน่อย และที่สำคัญมากอีกเรื่อง
       ในการทดลองใช้ Flap ครั้งแรกให้บินเครื่องบินให้สูงซักหน่อย เหมือนเดิมฝรั่งเขาแนะนำให้บินสูงขนาดว่า สามารถเกิดผิดพลาดได้สองครั้ง สิ่งหนึ่งที่เตรียมพร้อมไว้ได้เลยคือเมื่อ Flap กางลง Trim ของเครื่องบินจะเปลี่ยนไป เครื่องบินจะมีอาการไต่ขึ้น ไม่ต้องตกใจ ค่อยๆดัน Down ประคับประคองเครื่องบินไว้แล้วค่อยปรับ Elevator Trim ให้เครื่องบิน กลับมาอยู่ในแนวระดับ เนื่องจากระบบวิทยุที่เราใช้กันมีหลายค่ายไม่ว่าจะเป็น JR ,Futaba ฯลฯ แต่ที่เราๆท่านใช้กันคงไม่หนีไปจากสองค่ายนี้ และในแต่ละค่ายก็มีรุ่นที่แตกต่างกันออกไปอีก คงไม่สามารถ อธิบายลึกลงไปในแต่ละตัวได้ สิ่งที่ทำได้คือพูดหลักการในแนวกว้างๆ และให้ผู้ใช้ไปประยุกต์ใช้ให้ เหมาะสมกับระบบวิทยุของตัวเอง เพราะผมเห็นว่าในระบบวิทยุต่างมีวิธีการ Program ในส่วนหลักๆไม่แตกต่างกันมาก จะต่างกันเล็กน้อยในข้อปลีกย่อยหรือวิธีการเรียกชื่อ เช่น JR จะเรียกชื่อปุ่มโยกสามจังหวะว่า Landing Attitude, Futaba จะเรียกว่าปุ่ม Airbrake [ABRK] แต่ยังไงๆลักษณะการทำงานก็เหมือนกัน
เมื่อติดตั้ง Flap Servo ให้อยู่ถูก Channel แล้วเรามาดูวิธีแรกกันเลย

    ให้สังเกตที่ตัววิทยุ [Tx] ให้หาปุ่มหมุนปรับค่าของ Flap Channel ปรกติถ้าปุ่มอยู่ตรงกลางเราต้องติดตั้ง Flap ให้อยู่ในตำแหน่งปกติ ที่ไม่ได้ทำงานซึ่งมีวิธีเดียวคือปรับระบบคันชักของ Flap ถ้าหมุนปุ่มปรับไปทางซ้ายหรือขวา Flap จะเคลื่อนที่ลงหรือขึ้น เราสามารถกำหนดทิศทางการทำงานของ Flap ได้โดยการใช้ Function Channel Reverse และเราก็สามารถปรับให้ปุ่มนี้สั่งให้ Flap กางลงเพียงอย่างเดียวได้ โดยในตอน Setup Flap ให้หมุนปุ่มปรับ ไปอยู่สุดที่ข้างไหนข้างหนึ่งแล้วให้ปรับระบบคันชักให้ Flap มาอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ได้ทำงาน เมื่อหมุนปุ่ม Flap จะกางลงเพียงอย่างเดียว และจะกางได้มากด้วย การควบคุม Flap ด้วยวิธีนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ ง่ายในการ Setup เพราะไม่ต้องไป Program ค่าอะไรปรับแค่ระบบคันชักเท่านั้น ข้อดีอีกอย่างคือในความเป็นจริง Flap จะต้องกางลงมาช้าๆไม่ใช่ดัน Switch แล้วกางลงทันที เพราะ Trim ของเครื่องบินจะเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันใด เราจำเป็นต้องให้ Flap กางลงมาช้าๆเพื่อให้ Trim ของเครื่องบิน ค่อยๆเปลี่ยนแปลง ดังนั้นวิธีใช้มือหมุนปุ่มปรับ จะสามารถควบคุมความเร็ว ในการกางของ Flap ได้ดี ยกเว้นว่าคุณจะหา Servo ที่สามารถ Program ให้ปรับความเร็วในการเคลื่อนที่ได้ ซึ่งเป็น Function ที่มีในระบบวิทยุที่แพงๆ ข้อเสียของวิธีนี้คือ ใช้งานลำบากมาก นึกภาพเอานะครับว่าตอนเครื่องบินกำลังจะบินลงมือคุณเป็นระวิงขนาดไหน คุณต้องมีมือที่สาม มาใช้หมุนปุ่มปรับ Flap ให้ค่อยๆกางลงมาลงมา ในระบบวิทยุบางรุ่นเราสามารถ Program กำหนดให้ปุ่มหมุนนี้ทำงานในลักษณะอื่นๆได้เช่น ยกเลิกการทำงานของปุ่มหมุนคือหมุนแล้ว Flap ไม่ทำงานเพื่อที่เราสามารถให้ Function ตัวอื่นๆทำงานควบคุม Flap แทน วิธีนี้จะมีประโยชน์มากเพราะเราไม่ต้อง มาพะวงว่ าปุ่มหมุนอยู่ในตำแหน่งตรงกลางหรือไม่ หรือสั่งให้ปุ่มหมุน มีหน้าที่เป็นตัวปรับ Trim ของ Flap หรือตั้งระยะการเคลื่อนที่มากที่สุดของ Flap ให้มากหรือน้อยได้ตามต้องการ ตามปกติในการ Setup Flap ไม่ว่าเราตั้งใจจะใช้วิธีอะไรในการควบคุมการทำงานของ Flap เราจำเป็นต้องใช้ปุ่มหมุนปรับ เพื่อเช็คการทำงานของ Flap ก่อนเป็นอย่างแรก เมื่อเห็นว่า Flap ทำงานถูกต้องแล้ว เราจึงเริ่มต้น ติดตั้งวิธีควบคุมแบบอื่น แล้วจึงยกเลิกการทำงานของปุ่มหมุนปรับ
วิธีต่อมาจะเริ่มสนุกขึ้นมาอีกนิด เพราะเราจะเริ่มต้นใช้งานใน Function บางตัวของระบบวิทยุนั้นคือ Landing Attitude Mixing
      ในระบบ JR หรือ Air Brake Mixing ในระบบของ Futaba ให้สังเกตที่ตัววิทยุ [Tx] จะสังเกตเห็นว่ามีปุ่มโยกขึ้นลงหลายตัว แต่มีอยู่ตัวหนึ่งที่สามารถโยกปรับได้ 3 ตำแหน่ง เจ้าปุ่มโยกนี้แหละที่จะนำมันมาใช้งาน ปุ่มโยกนี้จะไปสั่งให้ Function Landing Attitude Mixing [Airbrake] ทำงานตามค่าที่ Program ไว้ใน Function เรามาดูที่ตัวโยกนี้ก่อน ตำแหน่งปกติของมันคือตรงกลาง ที่ตำแหน่งนี้ Function ทุกตัวที่ใช้ปุ่มนี้ควบคุมจะอยู่ในสถานะ OFF ทั้งหมด เมื่อโยกลง ถ้า Function Landing Attitude Mixing [Airbrake] ถูกเปิดอยู่ Landing Attitude Mixing จะทำงานตามค่าที่ Program ไว้ เมื่อโยกขึ้น ถ้า Function Elevator-Flap[ 2-6 Mixing] เปิดอยู่ Elevator-Flap Mixing จะทำงาน ปกติเรามักใช้ Function นี้สำหรับเครื่องบิน Pattern ที่มี Inboard Flap,เครื่องบินFun Flyที่ใช้ Flaperons หรือพวกเครื่องร่อน [High Performance Glider] เพราะจะทำให้เครื่องบินพวกนี้สามารถทำท่าผาดแผลงได้ดีขึ้น
      เรามาดูที่ Function Landing Attitude Mixing [Airbrake] กันก่อน หาตัว Function ให้เจอ เมื่อเจอแล้วสั่งให้ Function ทำงาน แล้วให้ตั้งค่าขนาดของระยะการเคลื่อนที่ของ CH6 ให้ทดลอง Program ค่าต่างๆ แล้วสังเกตดูว่า Flap เคลื่อนที่ไปอย่างไร ทิศทางการเคลื่อนที่ของ Flap ถูกต้องหรือไม่ ระยะการเคลื่อนที่เท่าที่เราต้องการหรือไม่ ตามปกติเมื่อกาง Flap แล้ว Elevator Trim ของเครื่องบินจะเปลี่ยนไป เราสามารถตั้งค่า Trim ของ Elevator ให้ทำงานสัมพันธ์กับ Flap ที่ถูกกางลงได้ เช่นเมื่อ Flap กางลง ตามปกติเครื่องบินจะมีอาการไต่ขึ้น ดังนั้นเราจะตั้งค่าให ้Elevator Trim ใน Function เคลื่อนที่ Down ลงเล็กน้อย เพื่อให้เครื่องบินยังคงบินระดับได้ การตั้งค่าตัวนี้จำเป็นต้องใช้การบินทดสอบ ทดลองกาง Flap และให้สังเกตค่า Elevator Trim ที่เราตั้งไว้มีขนาดพอดีหรือไม่ ต้องค่อยๆปรับ ตัวสาเหตุของ Elevator Trim ที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการกาง Flap มีสองอย่าง มุมที่กางลงของ Flap และความเร็วของเครื่องบินขณะกาง Flap ข้อเสียของการ Setup แบบนี้คือ ตั้งค่ากาง Flap ได้ค่าเดียว
      Function Elevator-Flap เมื่อสั่งให้ Function ทำงานแล้ว และดันปุ่มโยกไปในตำแหน่งบน CH6 [Flap] จะทำงานสัมพันธ์ตาม CH2 [Elevator] โดยเราสามารถตั้งค่าให้ Flap เคลื่อนไหวตามการเคลื่อนไหวของ Elevator โดย Flap จะเคลื่อนที่ในทิศทางตรงกันข้ามกับ Elevator เช่นถ้า Elevator เคลื่อนที่ขึ้น Flap จะเคลื่อนที่ลง ถ้า Elevator เคลื่อนที่ลง Flap จะเคลื่อนที่ขึ้น แต่ให้ค่อยๆปรับค่าการเคลื่อนที่ของ Flap ให้ค่อยๆเพิ่ม เหมือนเดิมจำเป็นต้องนำเครื่องบินขึ้น บินทดสอบหาค่าที่เราพอใจ ในสมัยนี้เครื่องบิน Pattern รุ่นใหม่ๆไม่นิยมใช้ Function นี้แล้ว แต่ก็เคยเห็นบทความ ในหนังสือเครื่องบินเล็กของญี่ปุ่นยังคงมีบทความดัดแปลงเครื่องบิน Pattern ให้มี Inboard Flap เพื่อใช้ Function นี้อยู่ ยังมีเครื่องบินอีกแบบที่นิยมใช้ Function นี้ พวกเครื่องบิน Fun Fly ซึ่งจะใช้ร่วมกับ Function Flaperons
ต่อไปเป็นวิธีที่สนุกที่สุด การใช้ Function Mixing โดย Computer Radio ทั่วๆไปจะให้ Function Mixing มาด้วยอย่างต่ำ 2 ชุด เลือกเอาชุดที่ไม่ได้ใช้งานออกมาใช้ เรามาดูแนวทางในการติดตั้งกัน
      สำหรับเครื่องบินที่มี Fixed Landing Gear เช่นเครื่องบิน Cessna 182, L-4 เป็นต้น หลักการในการทำ Mixing คือให้ Channel หนึ่ง [Slave] ทำงานตามอีก Channel หนึ่ง [Master] เนื่องจาก Gear Channel มีลักษณะการทำงานแบบเปิดกับปิด ซึ่งเป็นลักษณะที่เราต้องการ เราจึงกำหนดให้ Gear Channel[CH 5] เป็น Master โดยมี Flap Channel[CH6] เป็น Slave
     วิธีการ Program ให้เข้าไปใน Function Mixing ที่ว่างๆซักอัน เปิดให้ Function ทำงาน โยก Mixing Switchไปที่ ON Gear Switch ไปที่จังหวะพับล้อ Set ค่าให้ CH 5 เป็น Master CH 6 เป็น Slave แล้วค่อยๆป้อนค่าให้ Flap ค่อยๆกางลงประมาณ 10 องศา ต่อมาให้โยก Gear Switch ไปที่จังหวะกางล้อ แล้วป้อนค่าให้ Flap กางลงประมาณ 30 องศา คราวนี้คุณจะได้ การควบคุม Flap 3 แบบ คือถ้า Mixing Switch ปิด Flap จะไม่ทำงาน ถ้า Mixing Switchเปิด Flap จะทำงาน แต่จะกางที่ตำแหน่งไหนก็แล้วแต่ตำแหน่งของ Gear Switch ถ้าอยู่ในตำแหน่งพับล้อก็จะกางค่า 10 องศา ถ้าอยู่ในตำแหน่งกางล้อ Flap ก็จะกาง 30 องศา ถ้ามีปัญหาเรื่อง Elevator Trim ก็จำเป็นต้องใช้ Function Mixing เพิ่มอีกชุด คราวนี้ให้ Master เป็น Gear และ Slave เป็น Elevator เราก็สามารถป้อนค่าElevator Trim ให้กับ Flap ทั้งสองตำแหน่ง
สำหรับเครื่องบินที่มี Retract Landing Gear ก็ให้ทำเหมือนกับวิธีข้างบนแต่จะพบปัญหาสองอย่าง
      หนึ่ง ในการ Landing เมื่อเปิด Mixing switch และขาล้อยังพับเก็บอยู่ Flapจะกางออกมาในจังหวะแรก เมื่อกางล้อออกมา Flap จะกางลงอีกในตำแหน่ง Landing แต่ถ้าไม่อยากให้ Flap กางลงมาในจังหวะแรก ก็เพียงป้อนค่าในจังหวะ พับขาล้อให้เป็นศูนย์ Flap จะได้ไม่กางในจังหวะนี้ หรือให้กางขาล้อลงก่อนแล้วจึงเปิด Mixing switch Flap ก็จะกางลงมาในจังหวะ Landing เลย
      สอง ถ้าจำเป็นต้องการใช้ Flapในการ Takeoff จะมีปัญหาเพราะขาล้ออยู่ในจังหวะกางออก เมื่อ Mixing switch เปิด Flap จะอยู่ในตำแหน่ง Landing ซึ่งไม่สามารถใช้ในการ Takeoff ได้ ทางแก้คือในการTakeoff ให้ปิด Mixing switch แล้วให้ไปใช้ Function Landing Attitude โดยตั้งค่าการกาง Flap ให้พอเหมาะกับการ Takeoff
      สรุปว่าในการ Setup Flap หัวใจของเรื่องนี้อยู่ที่ความเข้าใจในเรื่องการทำ Function Mixing วิทยุแต่ละชนิด ก็มีวิธีการในรายละเอียดต่างกันไป แต่ถ้าเข้าใจเรื่อง Programmable Mixing ทุกอย่างก็ง่าย แล้วคุณจะพบว่าProgrammable Mixingที่เขาให้มามันน้อยไป
     เมื่อหาวิธี Setup ได้แล้ว ก็ต้องเอาไปบินทดสอบ ข้อแนะนำ อย่าป้อนค่าให้ Flap กางออกมามากเกินไป ให้กางลงทีละน้อย ค่อยๆทำความคุ้นกับอาการเมื่อ Flap กางลงมา เมื่อเครื่องบินเริ่มเข้า Downwind leg ก็ให้ค่อยๆลดกำลังเครื่องยนต์ลง จนเห็นว่าเครื่องบิน มีความเร็วต่ำได้ที่แล้วจึงกาง Flap ไม่มีใครบอกคุณได้ว่าความเร็วขนาดไหนเหมาะสมที่สุด คุณต้องทดสอบเอาเอง ถ้าความเร็วขนาดนี้เครื่องบินยังมีอาการไต่ก็พยายามลดความเร็วลงอีก หรือถ้าเห็นว่าลดไม่ไหว หรือไม่อยากลด ก็ให้ปรับค่า Elevator Trim ใน Function Mixing ปัญหานี้จะพบมากในเครื่องบินที่มี Wingload ต่ำๆ ส่วนเครื่องบินที่มี Wingload สูง ถ้าความเร็วเครื่องบินในตอนที่จะกาง Flap ต่ำได้ที่เครื่องบินพวกนี้อาจจะไม่มีอาการไต่เลย ถ้าทุกอย่างพอดี เครื่องบินจะค่อยๆลดความสูงลงมา อัตรา Sink rate จะลดลงจากระดับปกติ เครื่องบินจะมีความเร็วในการ Landing ต่ำลงแต่ยังมีการควบคุมดีในทุกภาคบังคับ ค่อยๆเพิ่มการกางลงของ Flap ลงมาทีละนิดและให้ค่อยๆเพิ่มมุมในการ Approach ให้ค่อยๆชันขึ้นด้วย ให้ทำความคุ้นเคยกับอาการบินที่เปลี่ยนไป จะพบว่าการ Flare ง่ายกว่าปกติมาก อย่าลืมสิ่งสำคัญในการนำเครื่องบิน Landing การควบคุมของมือซ้ายสำคัญมาก การควบคุมกำลังเครื่องยนต์ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด การควบคุมทิศทางโดย Rudder ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน คุณจะ Landing ได้ดีได้สวยก็ด้วย มือซ้ายข้างนี้ละ อีกอย่างถ้าตอน Landing มีลมแรงให้ระมัดระวังมากหน่อย ตามปกติถ้าลมแรงผมมักไม่ใช้ Flap เกือบลืมเรื่องสำคัญไปอีกเรื่อง ถ้ากาง Flap แล้วบินลงไม่ได้ จำเป็นต้องบินกลับขึ้นไปใหม่ ใจเย็นๆ อย่างเก็บ Flap ให้ค่อยๆเร่งเครื่องยนต์บังคับเครื่องบินให้ไต่กลับขึ้นไป ระวังอย่าให้มุมไต่ชันเกินไป เมื่อเห็นว่าเครื่องบิน มีความเร็ว และความสูงที่น่าจะปลอดภัยแล้วจึงค่อยเก็บ Flap แล้วก็เตรียมตัวเข้าวงจรการบินลงใหม่
      ขอให้ทดลองทำกันดู อย่าลืมคำเตือน Flap เป็นสิ่งเสพติด แล้วคุณจะขาดมันไม่ได้ ของให้ทุกคนมีความสุข ในการบินลงงามๆ สวัสดีครับ


ดุสิต 20/08/2544

 


Home | Bicycle | Offroad | Fishing | Radio Control | GPS Conner | Second hand | Member area
Copyright © 2000, www.WeekendHobby.com, All right reserved.

Contact Webmaster