พุธ,1 มกราคม 2568

ชมรมการบินผาดแผลงบังคับวิทยุไทย
Thai R.C. Aerobatics Club

กติกาแข่งขันกีฬา
การบินผาดแผลงขั้นพื้นฐานไทย
(Thai Basic Aerobatics Sporting Code)

การบินผาดแผลงบังคับด้วยวิทยุ
คำอธิบายท่าบิน
แนวทางสำหรับกรรมการ


สงวนลิขสิทธิ์โดยผู้จัดทำ
1. ห้ามทำการคัดลอกใดๆเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าหรือทำประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
2. อนุญาตให้คัดลอกได้สำหรับใช้ในการแข่งขันหรือเพื่อการศึกษาอ้างอิงโดยผู้สนใจกีฬาเครื่องบินเล็ก

คำนำ
ในการแข่งขันกีฬาทุกประเภท มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้แข่งขันจะต้องรู้และเข้าใจกติกาของกีฬาประเภทนั้นอย่างดีพอสมควรในระดับหนึ่งเสียก่อน จึงจะสามารถทำการแข่งขันอย่างมีประสิทธิผลได้ กีฬาเครื่องบินเล็กบังคับด้วยวิทยุประเภทบินผาดแผลงก็เช่นเดียวกัน จากประสบการณ์ของผู้จัดทำ ซึ่งได้คร่ำหวอด อยู่กับกีฬานี้มาประมาณยี่สิบปี ได้เห็นว่าจุดอ่อนของผู้เข้าแข่งขันของไทยเราก็คือ ความไม่สามารถที่จะทำ ความรู้ความเข้าใจ กับกติกาได้อย่างถ่องแท้ จึงทำให้เริ่มฝึกบินแบบค่อนข้างจะสะเปะสะปะ และไม่สามารถก้าวหน้าไปจนถึงจุดสูงสุดของศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเองได้

กติกานี้กำหนดขึ้นโดยอิงกับกติกาสากลฉบับ เอฟ 3 เอ ของสมาพันธ์การบินระหว่างประเทศเป็นหลัก แต่ได้ตัดต่อเรียบเรียงให้ง่ายขึ้น เพื่อใช้สำหรับ การแข่งขันในระดับ พื้นฐานของไทย

เนื่องจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของกติกาการแข่งขันกีฬาการบินผาดแผลงบังคับด้วยวิทยุฉบับนี้เขียนขึ้นสำหรับใช้กับการแข่งขันในระดับโลก จึงค่อนข้างอ่านเข้าใจได้ยาก เพราะเขียนไว้อย่างกระชับ ห้วนๆสั้นๆ แต่ละเอียดและรัดกุม ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการที่จะต้องตีความ และนำมาถกเถียงกัน ในระหว่างการแข่งขันหรือการตัดสิน ซึ่งผู้แปลก็ได้พยายามทำการแปล โดยรักษาเนื้อความและความหมาย ของต้นฉบับภาษาอังกฤษไว้ให้ใกล้เคียง มากที่สุดเพื่อประโยชน์อันเดียวกัน จึงอาจจะดูเหมือนว่าค่อนข้างที่จะอ่านเข้าใจได้ลำบากอยู่บ้าง แต่ก็ได้พยายามที่จะใช้ภาษาและถ้อยคำ ที่ผู้ที่ทำการบินเครื่องบินเล็กผาดแผลง จะสามารถเข้าใจได้ให้มากที่สุด ของแต่เพียงให้พยายามอ่านดูให้ดี อาจจะต้องอ่านซ้ำสักเที่ยวสองเที่ยว ก็จะเข้าใจได้โดยตลอด

หวังว่ากติกานี้จะได้มีส่วนช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจของเพื่อนนักบินที่สนใจการบินผาดแผลงแบบสากล กับช่วยจูงใจและเป็นฐาน ให้เพื่อนๆสามารถ ทำการบินผาดแผลง ได้อย่างสวยงามถูกต้องตามแบบมาตรฐานสากล และสามารถพัฒนาระดับฝีมือในการบิน ให้ก้าวหน้าต่อไปจนถึงขั้นที่สามารถ เข้าร่วมและมีชัยชนะในการแข่งขันการบินผาดแผลงประเภทนี้ในระดับนานาชาติได้ในที่สุด

ฉายศักดิ์ แสง-ชูโต และ สุรศักดิ์ บำเพ็ญบุณย์
ผู้จัดทำ
เมษายน 2545


การบินผาดแผลงบังคับด้วยวิทยุ

1. ข้อบังคับทางเทคนิคสำหรับการแข่งขันเครื่องบินเล็กบังคับด้วยวิทยุ


1. เครื่องบินเล็กผาดแผลงคิดเครื่อง(5.1)*

1.1.คำนิยามของเครื่องบินเล็กผาดแผลงติดเครื่องบินบังคับด้วยวิทยุ(5.1.1)
คือเครื่องบินเล็กที่ไม่ใช่เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งทำท่าบินในอากาศโดยพื้นที่ (แผ่น) บังคับสำหรับกำหนดการวางตัวของเครื่องบิน ทิศทางและความสูง โดยนักบินซึ่งอยู่บนพื้นดินผ่านทางวิทยุบังคับ

1.2. คุณลักษณะทั่วไปของเครื่องบินเล็กผาดแผลงติดเครื่อง(5.1.2)
กางปีก          ไม่จำกัด (เอฟ 2 เอ ไม่เกิน 2 เมตร)
ความยาว      ไม่จำกัด (เอฟ 3 เอ ไม่เกิน 2 เมตร)
น้ำหนัก        ไม่จำกัด (เอฟ 3 เอ ไม่เกิน 5 กิโลกรัม โดยไม่มีน้ำมันเชื้อเพลิง)

ข้อจำกัดด้านเครื่องยนต์ : ใช้เครื่องยนต์ใดก็ได้ที่เหมาะสม ยกเว้นเครื่องเครื่องที่ใช้เชื้อเพลิงแข็ง ก๊าซ หรือก๊าซเหลว เครื่องที่เป็นมอเตอร์ไฟฟ้าจะถูกจำกัดแรงดันไฟฟ้าไม่ให้เกิน 42 โวลต์สำหรับวงจรขับเคลื่อน

ระดับความดังเสียง ไม่เกิน 94 dB (A) ที่ระยะวัด 3 เมตรจากศูนย์กลางของตัวเครื่องบิน โดยเครื่องบินวางอยู่บนพื้นคอนกรีตหรือพื้นหินอัดในสถานแข่งขัน โดยวัดเมื่อเครื่องทำงานเต็มที่ในแนว 90 องศาด้านขวาใต้ลมของเส้นแนวบิน ไปโครโฟนจะอยู่สูง 30 เซนติเมตรจากพื้น จะต้องไม่มีสิ่งที่สะท้อนเสียงอยู่ในระยะใกล้กว่า 3 เมตรจากเครื่องบินหรือไมโครโฟน การวัดเสียงจะทำก่อนการบินทุกๆเที่ยว ถ้าไม่มีพื้นคอนกรีตหรือพื้นหินอัดก็อาจทำการวัดเสียงบนพื้นดินเปล่าหรือบนพื้นหญ้าสั้นๆ ซึ่งในกรณีนี้ความดังของเสียงต้องไม่เกิน 92 dB (A)

ในกรณีที่เครื่องยินไม่ผ่านการวัดเสียง จะไม่มีการบอกให้นักบินและ/หรือทีมของนักบินหรือกรรมการผู้ตัดสินทราบ แต่เครื่องบินกับเครื่องส่งวิทยุจะถูกยึดเก็บรักษาไว้โดยกรรมการผู้ควบคุมสนามทันทีหลังจบเที่ยวบิน ไม่อนุญาตให้ทำการใดๆเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือปรับเครื่องบิน (ยกเว้นการเติมน้ำมัน) และหากเครื่องบินยังไม่ผ่านการทดสอบใหม่นี้ คะแนนของเที่ยวบินที่จบลงก่อนหน้านี้จะเท่ากับศูนย์

การแข่งขันจะถูกหยุดพักเมื่อมีการตรวจวัดเสียง แต่ผู้เข้าแข่งขันจะถูกหยุดพักไม่เกิน 30 วินาทีสำหรับการตรวจวัด

อุปกรณ์วิทยุจะต้องเป็นประเภท open-loop (นั่นคือ ต้องไม่มี feedback ทางอีเลคโทรนิคจากเครื่องบินกลับลงมาสู่พื้นดิน) ห้ามใช้ระบบนักบินอัตโนมัติ (auto pilot) ซึ่งใช้แรงเฉื่อย หรือ แรงโน้มถ่วง หรือการใช้พื้นแผ่นดินเป็นตำแหน่งอ้างอิงทุกชนิด ห้ามใช้ระบบการเรียงลำดับการบังคับแบบอัตโนมัติ (แบบฟรีโปรแกรม) หรืออุปกรณ์ตั้งเวลาบังคับอัตโนมัติ

ตัวอย่าง : ที่อนุญาตให้ใช้
1. อุปกรณ์เปลึ่ยนแปลงอัตราการบังคับ ซึ่งปิดเปิดสวิทช์โดยนักบิน
2. ปุ่มหรือคันโยกบังคับใดๆ ซึ่งเริ่มและหยุดโดยนักบิน
3. สวิทช์ที่ปิดเปิดด้วยมือเพื่อเชื่อมโยงหน้าที่การบังคับ

ตัวอย่าง : ที่ไม่อนุญาตให้ใช้
1. ปุ่มสำหรับพลิกตัวโดยฉับพลัน/สแน็ป ซึ่งมีการบังคับช่วงเวลาทำงานอัตโนมัติ
2. อุปกรณ์ซึ่งตั้งโปรแกรมสำหรับการส่งอนุกรมคำสั่งอย่างอัตโนมัติ
3. นักบินอัตโนมัติ (auto pilot) สำหรับการแก้การเอียงของปีก
4. ระบบเปลี่ยนมุม pitch ของใบพัดซึ่งมีการตั้งเวลาอัตโนมัติ
5. ระบบการรับคำสั่งด้วยเสียงใดๆ
6. ระบบซึ่งสามารถเรียนรู้ได้โดยอัตโนมัติจากการวิเคราะห์ลักษณะการบินแต่ละเที่ยว

1.3. คำนิยามและจำนวนผู้ช่วย (5.1.3)
ผู้ช่วยอาจเป็นผู้จัดการทีม ผู้เข้าแข่ง หรือผู้สนับสนุนที่ได้ลงทะเบียนเป็นทางการอนุญาตให้นักบินแต่ละคนมีผู้ช่วยได้ 1 คนในระหว่างเที่ยวบิน อาจมีผู้ช่วยได้ถึง 2 คนในช่วงสตาร์ทเครื่อง ผู้ช่วยคนที่สองอาจช่วยวางเครื่องบินสำหรับการบินขึ้นและเก็บเครื่องบินหลังการบินลง

1.4. จำนวนเที่ยวบิน(5.1.4)
ผู้เข้าแข่งขันมีสิทธิทำการบินได้ในจำนวนเที่ยวบินที่เท่ากันทั้งในระหว่างรอบคัดเลือก รอบรองชนะเลิศหรือรอบชิงชนะเลิศ โดยจะนับเฉพาะเที่ยวบินที่บินได้ครบถ้วน

1.5. นิยามของการพยายามบิน(5.1.5)
เมื่อนักบินได้รับอนุญาตให้เริ่มต้นจะถือว่าเป็นการพยายามบินหนึ่งครั้ง
หมายเหตุ : ถ้าไม่สามารถติดเครื่องได้ภายในเวลาสามนาที ผู้เข้าแข่งขันผู้นั้นต้องยอมเปลี่ยนที่ให้เป็นผู้แข่งขันถัดไป ถ้าเครื่องหยุดลงหลังเริ่มการบินขึ้น แต่ก่อนที่เครื่องจะพ้นจากพื้น อาจเริ่มทำการสตาร์ทเครื่องได้ใหม่ภายในเวลาสามนาที

1.6. จำนวนการพยายามบิน(5.1.6)
ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนสามารถทำการพยายามบินได้หนึ่งครั้งสำหรับเที่ยวบินเป็นทางการหนึ่งเที่ยว
หมายเหตุ : ผู้อำนวยการแข่งขันอาจพิจารณาให้ทำการพยายามบินซ้ำได้หากว่าไม่สามารถทำการสตาร์ทเครื่องได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยเหตุที่นอกเหนือจากอาณัติของนักบิน (เช่น ในกรณีที่วิทยุถูกรบกวน) ในทำนองเดียวกันหากเที่ยวบินถูกรบกวนโดยนอกเหนือจากอาณัติของนักบิน ผู้เข้าแข่งขันก็อาจได้รับอนุญาตให้บินใหม่ และจะให้คะแนนตั้งแต่ท่าบินที่เริ่มถูกรบกวนเป็นต้นไปเท่านั้น

1.7. นิยามเที่ยวบินเป็นทางการ(5.1.7)
ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร การพยายามบินหนึ่งครั้งจะถือเป็นหนึ่งเที่ยวบินเป็นทางการ

1.8. การให้คะแนน(5.1.8)
ท่าบินแต่ละท่าจะได้รับคะแนนเป็นจำนวนเต็ม ซึ่งอยู่ระหว่าง 10 และ 0 จากกรรมการผู้ตัดสินให้คะแนนแต่ละคน คะแนนนี้จะถูกคูณด้วยสัมประสิทธิ์(ค่า k - ผู้แปล) ซึ่งขึ้นอยู่กับความยากง่ายของท่าบิน ท่าบินใดซึ่งบินได้ไม่จบจะได้คะแนน 0 ท่าบินจะต้องบินให้กรรมการเห็นชัดเจน ถ้ากรรมการมีความจำเป็นที่ไม่สามารถติดตามท่าบินได้ตลอดทั้งท่า กรรมการผู้นั้นควรลงคะแนนเป็น Not Observed (N.O.) ในกรณีนี้คะแนนของกรรมการผู้นี้สำหรับท่านี้จะเท่ากับคะแนนเฉลี่ยของกรรมการคนอื่นๆ ท่าบินตรงกลางควรบินตรงกลางของพื้นที่ทำการบิน ในขณะที่ท่าเลี้ยวกลับทิศทางไม่ควรหลุดเกินเส้นที่ทำมุม 60 องศาทางด้านซ้ายและขวาของจุดกลาง ความสูงต้องไม่เกิน 60 องศา นอกจากนี้ท่าบินควรบินอยู่ในแนวเส้นแนวบินซึ่งอยู่ที่ระยะห่างประมาณ 150 เมตรด้านหน้าของนักบิน การละเมิดกฎนี้จะเป็นสาเหตุให้กรรมการแต่ละคนลดคะแนนที่ให้ลง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการละเมิด พื้นที่ทำการบินจะแสดงอย่างชัดเจนด้วยเสาสีขาว ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 100 มิลลิเมตร และสูงไม่น้อยกว่า 4 เมตร ซึ่งจะถูกปักไว้ตรงกลางเสาควรติดธงหรือริบบิ้นที่สีตัดกันเพื่อให้สามารถเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนั้นควรให้มีเส้นสีขาวหรือสีอื่นที่เห็นได้ชัด ยาวอย่างน้อย 50 เมตรลากออกจากตำแหน่งของนักบินออกไปในแนว 60 องศา ทั้งซ้ายและขวาเพื่อแสดงจุดกลางและเส้นแนวขอบของพื้นที่การบิน จะต้องไม่มีเสียงหรือสัญญาณใดๆที่จะแสดงให้รู้ถึงการละเมิดพื้นที่ทำการบิน

กรรมการจะนั่งอยู่ในระยะไม่เกิน 10 เมตรและไม่น้อยกว่า 7 เมตร ด้านหลังของตำแหน่งนักบิน (จุดตัดของเส้น 60 องศา) และอยู่ภายในบริเวณที่อยู่ภายในเส้นมุม 60 องศาที่ต่อออกไปด้านหลังของนักบิน

เมื่อเที่ยวบินแต่ละเที่ยวสิ้นสุดลง กรรมการแต่ละคนจะพิจารณาว่าระดับเสียงของเครื่องบินดังเกินไปหรือไม่ หากกรรมการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าเสียงดังเกินไป คะแนนของกรรมการแต่ละคนสำหรับเที่ยวบินนั้นจะถูกตัดลง 10 คะแนน

ถ้ากรรมการเห็นว่าการทำการบินเป็นไปในลักษณะที่ไม่ปลอดภัย กรรมการอาจสั่งให้นักบินนำเครื่องบินลงสู่พื้น คะแนนซึ่งกรรมการแต่ละคนตัดสินให้จะถูกแสดงให้เห็นโดยทั่วกันภายหลังจากที่รอบบินแต่ละรอบสิ้นสุดลง

1.9. การจัดลำดับผู้ชนะ(5.1.9)
ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนจะทำการบินคนละสามเที่ยวบิน โดยจะนับเอาเที่ยวที่ได้คะแนนดีที่สุดสองเที่ยวเพื่อจัดลำดับชนะเลิศ

1.10. การเตรียมการตัดสินให้คะแนน(5.1.10)
ก่อนการแข่งขันจะต้องมีการประชุมชี้แจขงให้กับกรรมการ ตามด้วยเที่ยวบินฝึกฝนสำหรับกรรมการ โดยผู้ที่ไม่ได้ร่วมแข่งขันนอกจากนั้นจะต้องมีการบินเที่ยวบิน อุ่นเครื่องสำหรับกรรมการ โดยผู้ที่ไม่ได้ร่วมแข่งขันก่อนที่จะเริ่มเที่ยวบินแข่งขันเที่ยวแรก

1.11. การจัดการแข่งขันเครื่องบินผาดแผลงบังคับด้วยวิทยุ(5.1.11)
การจัดลำดับการบินสำหรับการบินจะทำโดยการจับฉลาก ยกเว้นแต่ว่าจะไม่ให้ผู้ใช้ความถี่เดียวกันบินถัดต่อจากกัน

สำหรับเที่ยวบินที่สอง สาม จะเริ่มต้นจากลำดับที่ 1/3 และ 2/3 ตามลำดับลงมา

ในระหว่างเที่ยวบิน ผู้เข้าแข่งขันจะต้องอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับกรรมการผู้ตัดสินและอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้อำนวยการการบิน (Flight Line Director)

ต้องเรียกตัวผู้แข่งขันล่วงหน้า 5 นาที ก่อนที่จะให้ผู้แข่งขันเข้ามาใช้บริเวณสตาร์ทเครื่อง

ถ้าความถี่ของผู้แข่งขันไม่มีการใช้อยู่ ผู้แข่งขันจะได้รับมอบเครื่องส่งเมื่อเข้าไปในบริเวณสตาร์ทเครื่องแล้ว เพื่อจะได้ทำการตรวจเช็ควิทยุ ถ้ามีการรบกวนทางด้านความถี่วิทยุ ผู้แข่งขันจะต้องได้รับอนุญาตให้มีเวลาตรวจเช็ควิทยุอีกไม่เกิน 1 นาทีก่อนที่จะเริ่มเวลา 3 นาทีสำหรับสตาร์ทเครื่อง ผู้ควบคุมเวลาจะแจ้งให้ผู้แข่งขันทราบเมื่อหมดเวลาหนึ่งนาทีและเริ่มทำการวัดเวลาสตาร์ทเครื่อง 3 นาที่ทันที

1.12. การทำท่าบิน(5.1.12)
จะต้องทำการบินท่าต่างๆตามลำดับที่กำหนดไว้โดยไม่มีการรบกวน ผู้แข่งขันสามารถทำท่าบินแต่ละท่าได้เพียงหนึ่งครั้งในระหว่างเที่ยวบิน นักบินมีเวลาสามนาทีสำหรับสตาร์ทเครื่องและสิบนาทีที่จะทำการบินให้จบ โดยจะเริ่มนับเวลาสามนาทีและสิบนาทีเมื่อผู้แข่งขันได้รับอนุญาตให้สตาร์ทเครื่อง เครื่องบินจะต้องวิ่งขึ้นและลงโดยไม่มีการช่วยใดๆ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือไม่มีการพุ่งเครื่องบิน ถ้ามีชิ้นส่วนใดๆของเครื่องบินหลุดจากตัวเครื่องในระหว่างเที่ยวบิน การให้คะแนนจะยุติลง ณ จุดนั้น และต้องนำเครื่องลงสู่พื้นทันที

เที่ยวบินจะจบลงเมื่อทำการลงสู่พื้นเสร็จสิ้น การให้คะแนนจะยุติลงเมื่อครบเวลาสิบนาทีที่จำกัดไว้


1.13. ตารางท่าบินผาดแผลงขั้นพื้นฐานไทย(Thai Basic Aerobatic Maneuvers Schedule)

TB-01 ลำดับการบินขึ้น (Take-Off Sequence)
K=1
TB-02 วงตั้งสี่เหลี่ยมจัตุรัส (Square Loop)
K=3
TB-03 ครึ่งคิวบันเอทกลับทาง (Half Reversed Cuban8)
K=2
TB-04 พลิกตัวสองรอบ (Two-turn Roll)
K=3
TB-05 กลับตัวแบบสตอลเทอร์น (Stall Turn)
K=2
TB-06 วงกลมตั้งในสองวง (Two Inside Loops)
K=3
TB-07 อิมเมลแมน (Immelmann)
K=2
TB-08 วงกลมตั้งนอกสองวง (Two Outside Loops)
K=3
TB-09 สปลิท-เอส (Split-S)
K=2
TB-10 วงตั้งสามเหลี่ยม (Triangle Loop)
K=3
TB-11 ฮัมทีบัมพ์ (Humpty Bump)
K=2
TB-12 บินในแนวระดับหงายท้อง (Inverted Flight)
K=2
TB-13 ครึ่งวงตั้งวงสี่เหลี่ยมพลิกตัวครึ่งรอบ(Half Square Loop with Half Roll)
K=2
TB-14 ใบไม้ร่วงสองรอบ (Two-Turn Spin)
K=3
TB-15 ลำดับการบินลง (Landing Sequence)
K=1
 
Total k=34


บทผนวก ก. (5A)
คำอธิบายท่าบินผาดแผลงบังคับด้วยวิทย

(5A.1.13) การตัดสินให้คะแนนท่าบินทุกท่าจะยึดตามเส้นแนวบิน และจะเริ่มและจบท่าโดยเส้นตรงในแนวระดับในลักษณะบินปรกติหรือหงายท้อง ท่าบินตรงกลางจะเริ่มและจบในทิศทางเดียวกัน ในขณะที่ท่าบินกลับทิศทางจะจบลงด้วยทิศทาง 180 องศา กลับจากขาเข้า ระดับของขาเข้าและขาออกของท่าบินตรงกลางสมควรจะอยู่ในระดับความสูงเดียวกัน ยอมให้มีการปรับระดับตำแหน่งความสูงได้ในท่าบินกลับทิศทาง

ท่าบินทุกท่าที่มีวงกลมตั้งหรือส่วนของวงกลมมากกว่าหนึ่งจะต้องให้เส้นผ่าศูนย์กลางของวงกลมตั้งและส่วนของวงกลมมีขนาดเท่ากัน และในกรณีของวงกลมตั้งหลายวงจะต้องอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ในทำนองเดียวกันท่าบินที่มีการพลิกตัวมากกว่าหนึ่งครั้งจะต้องมีอัตราการพลิกตัวที่เท่ากัน และหากกำหนดให้มีการชะงัก เวลาของการชะงักต้องเท่ากัน การพลิกตัวต่อเนื่องในแนวระดับจะต้องอยู่ในระดับความสูงและทิศทางเดียวกัน

เท่าบินทุกท่าที่มีการพลิกตัว, พลิกตัวบางส่วน หรือพลิกตัวฉับพลันหรือท่าผสมของที่กล่าวมา จะต้องมีเส้นตรงที่ยาวเท่ากันปรากฏอยู่ก่อนและหลังการพลิกตัวหรือท่าผสม ยาเว้นในกรณีของกลุ่มท่าอิมเมลแมน (Immelman) หรือท่าสปลิท-เอส (Split S) สำหรับท่าการพลิกตัวฉับพลันที่เป็นการพลิกตัวฉับพลัน (หรือพลิกตัวเป็นแบบคว้าน) จะได้คะแนนศูนย์ ท่าใบไม้ร่วง/สปินที่เป็นการดำแบบคว้านลงหรือเริ่มต้นด้วยการพลิกตัวฉับพลันจะได้คะแนนศูนย์

การละเมิดใดๆจากที่กล่าวข้างบนจะเป็นเหตุให้มีการลดคะแนนเพิ่มเติมจากการละเมิดที่กล่าวไว้ในข้อสังเกตสำหรับกรรมการสำหรับท่าบินแต่ละท่า และการลดคะแนนตามที่กล่าวไว้ในแนวทางสำหรับกรรมการ ให้สังเกตว่ารายการเหล่านี้ไม่ได้ครอบคลุมไปหมดทุกกรณี



คำอธิบายท่าบินผาดแผลงขั้นพื้นฐานไทย (Thai Basic Aerobatic Maneuvers)


TB-01 ลำดับการบินขึ้น (Take-Off Sequence)

บินขึ้นจากจุดที่กำหนด หลังจากแนวบินตรงทวนลม เลี้ยว 90 องศาที่บริเวณเส้นแนวบินตามลม ไปที่จุดขอบบริเวณ เลี้ยว 180 องศา หรือเลี้ยว 90 องศา ตามด้วยอีก 270 องศาในทางตรงกันข้าม เพื่อกลับเข้าเส้นแนวบินทวนลม
หมายเหตุ :-
- ไม่ทำตามลำดับ คะแนนศูนย์
- เครื่องบินผ่านด้านหลังกรรมการ คะแนนศูนย์

TB-02 วงตั้งสี่เหลี่ยมจัตุรัส (Square Loop)
จากแนวบินระดับ ดึงขึ้นในแนวดิ่ง ดึง 90 องศาเข้าแนวบินระดับหงายท้อง ดึง 90 องศาลงในแนวดิ่ง ดึง 90 องศาเข้าเส้นแนวบินระดับ
หมายเหตุ :-
- ความยาวของแต่ละขาต้องเท่ากัน
- ส่วนของวงกลมที่ทั้งสี่มุมต้องมีรัศมีเท่ากัน
- ขาเข้าและขาออกต้องอยู่ในระดับและเส้นแนวบินเดียวกัน

TB-03 ครึ่งคิวบันเอทกลับทาง (Half Reversed Cuban 8)
จากแนวบินระดับ ดึงขึ้น 45 องศา พลิกตัวครึ่งรอบ ทำวงกลมตั้งใน 5/8วง ออกจากท่าในแนวระดับ
หมายเหตุ :-
- พลิกตัวตรงกลางเส้นแนวบินตรงขาขึ้น
- 5/8 วงกลมตั้งในมีรัศมีคงที่

TB-04 พลิกตัวสองรอบ (Two-turn Roll)
จากแนวบินระดับ พลิกตัวสองรอบ
หมายเหตุ :-
- อัตราการพลิกตัวเร็วเท่ากัน
- การพลิกตัวอยู่ในแนวระดับ
- เข้าและออกจากท่าระดับเดียวกัน

TB-05 กลับตัวแบบสตอลเทอร์น (Stall Turn)

จากแนวบินระดับ ดึงขึ้นในแนวดิ่ง ที่จุดยอดกลับตัวแบบสตอลเทอร์น ในทิศทางใดก็ได้ ลงมาในแนวดิ่ง ดึงเข้าสู่แนวบินระดับ
หมายเหตุ :-
- รัศมีการกลับตัวไม่เกิน ?ของกางปีก
- ส่วนของวงกลมขาขึ้นและขาลงมีรัศมีเท่ากัน
- ถ้าเครื่องบินคว่ำหรือหงายตัวตกลงมา คะแนนศูนย์

TB-06 วงกลมตั้งในสองวง (Two Inside Loops)

จากแนวบินระดับ ดึงเข้าสู่วงกลมตั้งในสองวง ออกจากท่าในแนวบินระดับ
หมายเหตุ :-
- วงกลมทั้งสองวงทับกัน
- จุดที่ออกจากท่าต้องอยู่ในตำแหน่งและระดับเดียวกันกับจุดที่เข้าท่า

TB-07 อืมเมลแมน (Immelmann)

จากแนวบินระดับ ดึงเข้าสู่ครึ่งวงกลมตั้งใน ที่ยอดวงพลิกตัวครึ่งรอบ ออกจากท่าในแนวบินระดับ
หมายเหตุ :-
- การพลิกตัวต้องทำทันทีหลังจบครึ่งวงกลมตั้งใน โดยไม่มีการชะงัก

TB-08 วงกลมตั้งนอกสองวง (Two Outside Loops)

จากแนวบินระดับ ดันเข้าสู่วงกลมตั้งนอกสองวง ออกจากท่าในแนวบินระดับ
หมายเหตุ :-
- ดู TB-06

TB-09 สปลิท-เอส (Split-S)

จากแนวบินระดับ พลิกตัวครึ่งรอบแล้วดึงเข้าสู่ครึ่งวงกลมตั้งใน ออกจากท่าในแนวบินระดับ
หมายเหตุ :-
- ต้องดึงเข้าครึ่งวงกลมตั้งในทันทีหลังพลิกตัว

TB-10 วงกลมตั้งสามเหลี่ยม (Triangle Loop)

จากแนวบินระดับ ดึงขึ้นในแนวเส้นบิน 45 องศา แล้วดึง 135 องศา เข้าสู่แนวบินระดับหงายท้อง ดึง 135 องศา เข้าสู่แนวขาลง ดึง 45 องศา ออกจากท่าในแนวบินระดับ
หมายเหตุ :-
- จุดที่ออกจากท่าต้องอยู่ในตำแหน่งและระดับเดียวกันกับจุดที่เข้าท่า

TB-11 ฮัมทีบัมพ์ (Humpty Bump)

จากแนวบินระดับ ดึงขึ้นในแนวดิ่ง พลิกตัวครึ่งรอบทำครึ่งวงกลมตั้งใน ลงมาในแนวดิ่งแล้วดึงออกจากท่าในแนวระดับ
หมายเหตุ :-
- ส่วนของวงกลม ต้องมีรัศมีเท่ากัน
- ครึ่งวงกลมตั้งในควรมีรัศมีไม่แคบจนเกินไป เครื่องบินต้องไม่คล้ายกับหล่นลงมา
- พลิกตัวที่กึ่งกลางเส้นแนวดิ่งขาขึ้น

TB-12 บินในแนวระดับหงายท้อง (Inverted Flight)

จากแนวบินระดับ พลิกตัวครึ่งรอบ บินในแนวระดับหงายท้อง พลิกตัวครึ่งรอบออกจากท่า
หมายเหตุ :-
- ทิศทางและระดับต้องอยู่ในแนวเดียวกับเส้นแนวบิน

TB-13 ครึ่งวงตั้งสี่เหลี่ยมพลิกตัวครึ่งรอบ (Half Square Loop with Half Roll)

จากแนวบินระดับ ดึงขึ้นในแนวดิ่ง พลิกตัวครึ่งรอบดัน 90 องศา ออกจากท่าในแนวระดับ
หมายเหตุ :-
- ส่วนของวงกลมต้องมีรัศมีเท่ากัน
- พลิกตัวที่กึ่งกลางเส้นแนวดิ่งขาขึ้น

TB-14 ใบไม้ร่วงสองรอบ (Two-Turn Spin)

จากเส้นแนวบินระดับ ลดความเร็วจนเครื่องบินสตอล เข้าสู่การหมุนตัวแบบใบไม้ร่วงสองรอบ แล้วลงมาในแนวดิ่ง ดึง 90 องศา ออกจากท่าในแนวระดับ
หมายเหตุ :-
- เครื่องบินต้องสตอลเพื่อเข้าท่าและต้องอยู่ในอาการสตอลในระหว่างหมุนตัวลง
- หมุนตัวเป็นแบบคว้าน (spiral) ลงมา คะแนนศูนย์
- หมุนตัวเกินหรือขาดไปมากกว่าครึ่งรอบ ถูกลดคะแนนอย่างรุนแรง
- เส้นลงแนวดิ่ง ถือเป็นส่วนหนึ่งของท่าบิน

TB-15 ลำดับการบินลง (Landing Sequence)

จากแนวบินระดับ เลี้ยว 180 องศาเข้าสู่แนวบินตามลม แล้วเลี้ยว 90 องศา เลี้ยวอีก 90 องศา แล้วลดระดับลงสู่พื้นในบริเวณพื้นที่
ลงที่กำหนด
หมายเหตุ :-
- เครื่องบินไม่ทำตามลำดับการบินลง ศูนย์คะแนน
- ถ้าขาล้อใดเกิดพับขึ้นเมื่อถึงพื้น ศูนย์คะแนน
- ถ้าเครื่องบินลงถึงพื้นนอกบริเวณพื้นที่ลง ศูนย์คะแนน บริเวณพื้นที่ลงกำหนดโดยวงกลมรัศมี 50 เมตร หรือเส้นตรงซึ่งอยู่ห่างกัน 100 เมตร โดยที่ทางวิ่งขึ้นกว้างอย่างน้อย 10 เมตร

 




Home | Bicycle | Offroad | Fishing | Radio Control | GPS Corner | Second hand | Member area
Copyright © 2000, www.WeekendHobby.com, All right reserved.

Contact Webmaster