จาก E20ZFD 203.118.80.60 IP:203.118.80.60
อังคารที่ , 13/9/2548
เวลา : 22:40
อ่านแล้ว = 691 ครั้ง
แจ้งลบ
ส่งหาเพื่อน
|
แจ้งเตื่อนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ศูนย์นิรภัย)
ที่ มท0616/ว 949
วันที่ 13 กันยายน 2548
จาก อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย / เลขาธิการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน
ถึง ผู้ว่าการจังหวัด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช
-----------------------------------------------------------------------------------------
กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเตือนภัยเรื่อง พายุดีเปรสชั่นในทะเลจีนใต้ ได้เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามแล้ว บริเวณระหว่างเมืองนาตรังและเมืองกวีนอน เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 13 กันยายน 2548 มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 50 กม./ชม. คาดว่าพายุจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยในแนวจังหวัดอุบลราชธานี ลักษณะดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง สำหรับคลื่นลมในอ่าวไทยและจะมีกำลังแรงขึ้น ขอให้ขาวเรือในอ่าวไทยเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือในช่วง 2 3 วันนี้
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามตรวจสอบสถานการณ์และสภาวะอากาศเพิ่มเติมแล้วพบว่าในช่วงตลอดสัปดาห์นี้ กระแสลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน อ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ซึ่งมีอิทธิพลมาจากพายุดีเปรสชั่น ซึ่งจะพัดพาความชื่นในทะเลเข้าสู่ประเทศไทย ทำให้มีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น และจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ตอนบน อาจนำไปสู่น้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในบางพื้นที่ได้ ส่วนคลื่นลมในทะเลจะเพิ่มกำลังแรงขึ้น โดยเฉพาะห่างชายฝั่งบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูง 2 3 เมตร เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากสภาวะอากาศดังกล่าว ให้จังหวัดที่อาจจะได้รับผลกระทบ ดำเนินการดังนี้
1. แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในที่ลุ่ม ที่ลาดเชิงเขา และในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ระมัดระวังอันตรายจากภัยธรรมชาติ สำหรับประชาชนที่อาศัยอยุ่ชายฝั่งทะเลควรพิจารณาเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้
2. ขอให้ผู้ว่าการจังหวัดกำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อำเภอ/กิ่งอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ จัดเจ้าหน้าที่อยู่ปฎิบัติงานติดตามสถานการณ์เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะช่วงวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ 17-18 กันยายน 48 เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบ
3. ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนของจังหวัด อำเภอ/กิ่งอำเภอ ให้สามารถช่วยเหลือประชาชนหากเกิดสถานการณ์ขึ้นในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที
4. รายงานเหตุการณ์และการให้ความช่วยเหลือที่ จังหวัด อำเภอ/กิ่งอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นให้ สำนักเลขาธิการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทราบทุกระยะจนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุด ตามหมายเลขโทรศัพท์/โทรสาร 0-2241-7450-6 มท 55045-9
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตเตรียมพร้อมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของจังหวัดในพื้นที่ด้วยแล้ว
นายสุนทร ริ้วเหลือง
อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
เลขาธิการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน
|