คำตอบที่ 1
ธุดงค์วัตร 13 ข้อ
ธุดงควัตร คือข้อปฏิบัติที่เข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อความขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบังคับให้ภิกษุถือปฏิบัติ ใครจะปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ ผู้ที่จะปฏิบัติธุดงควัตรนั้น สามารถเลือกได้เองตามความสมัครใจ ว่าจะปฏิบัติข้อใดบ้าง เป็นเวลานานเท่าใด เมื่อจะถือปฏิบัติก็เพียงแต่กล่าวคำสมาทานธุดงควัตรข้อที่ตนเลือก แล้วก็เริ่มปฏิบัติได้เลย ธุดงควัตรมี 13 ข้อคือ
หมวดที่ ๑ จีวรปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับจีวร)
1.) การถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร คือการใช้แต่ผ้าเก่าที่คนเขาทิ้งเอาไว้ตามกองขยะบ้าง ข้างถนนบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง นำผ้าเหล่านั้นมาซัก ย้อมสี เย็บต่อกันจนเป็นผืนใหญ่แล้วนำมาใช้ งดเว้นจากการใช้ผ้าใหม่ทุกชนิด (บังสุกุล = คลุกฝุ่น)
2.) การถือผ้า 3 ผืน (ไตรจีวร) เป็นวัตร คือการใช้ผ้าเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น อันได้แก่ สบง(ผ้านุ่ง) จีวร(ผ้าห่ม) สังฆาฏิ(ผ้าสารพัดประโยชน์ เช่น คลุมกันหนาว ปูนั่ง ปูนอน ปัดฝุ่น ใช้แทนสบง หรือจีวรเพื่อซักผ้าเหล่านั้น ปัจจุบันภิกษุไทยมักใช้พาดบ่าเมื่อประกอบพิธีกรรม)
หมวดที่ ๒ ปิณฑปาตปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับบิณฑบาต )
3.) การถือบิณฑบาตเป็นวัตร คือการบริโภคอาหารเฉพาะที่ได้มาจากการรับบิณฑบาตเท่านั้น ไม่บริโภคอาหารที่คนเขานิมนต์ไปฉันตามบ้าน
4.) ถือการบิณฑบาตตามลำดับบ้านเป็นวัตร คือจะรับบิณฑบาตโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เลือกว่าเป็นบ้านคนรวยคนจน ไม่เลือกว่าอาหารดีไม่ดี มีใครใส่บาตรก็รับไปตามลำดับ ไม่ข้ามบ้านที่ไม่ถูกใจไป
5.) ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร คือ ในแต่ละวันจะบริโภคอาหารเพียงครั้งเดียว เมื่อนั่งแล้วก็ฉันจนเสร็จ หลังจากนั้นก็จะไม่บริโภคอาหารอะไรอีกเลย นอกจากน้ำดื่ม
6.) ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร คือจะนำอาหารทุกชนิดที่จะบริโภคในมื้อนั้น มารวมกันในบาตร แล้วจึงฉันอาหารนั้น เพื่อไม่ให้ติดในรสชาดของอาหาร
7.) ถือการห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร คือเมื่อรับอาหารมามากพอแล้ว ตัดสินใจว่าจะไม่รับอะไรเพิ่มอีกแล้ว หลังจากนั้นถึงแม้มีใครนำอะไรมาถวายเพิ่มอีก ก็จะไม่รับอะไรเพิ่มอีกเลย ถึงแม้อาหารนั้นจะถูกใจเพียงใดก็ตาม
หมวดที่ ๓ เสนาสนปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับเสนาสนะ )
8.) ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร คือจะอยู่อาศัยเฉพาะในป่าเท่านั้น จะไม่อยู่ในหมู่บ้านเลย เพื่อไม่ให้ความพลุกพล่านวุ่นวายของเมืองรบกวนการปฏิบัติ หรือเพื่อป้องกันการพอกพูนของกิเลส
9.) ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร คือจะพักอาศัยอยู่ใต้ต้นไม้เท่านั้น งดเว้นจากการอยู่ในที่มีหลังคาที่สร้างขึ้นมามุงบัง
10.) ถือการอยู่กลางแจ้งเป็นวัตร คือจะอยู่แต่ในที่กลางแจ้งเท่านั้น จะไม่เข้าสู่ที่มุงบังใดๆ เลย แม้แต่โคนต้นไม้ เพื่อไม่ให้ติดในที่อยู่อาศัย
11.) ถือการอยู่ในป่าช้าเป็นวัตร คือจะงดเว้นจากที่พักอันสุขสบายทั้งหลาย แล้วไปอาศัยอยู่ในป่าช้า เพื่อจะได้ระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ไม่ประมาท
12.) ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดไว้ให้เป็นวัตร คือเมื่อใครชี้ให้ไปพักที่ไหน หรือจัดที่พักอย่างใดไว้ให้ ก็พักอาศัยในที่นั้นๆ โดยไม่เลือกว่าสะดวกสบาย หรือถูกใจหรือไม่ และเมื่อมีใครขอให้สละที่พักที่กำลังพักอาศัยอยู่นั้น ก็พร้อมจะสละได้ทันที
13.) ถือการนั่งเป็นวัตร คือจะงดเว้นอิริยาบถนอน จะอยู่ใน 3 อิริยาบทเท่านั้น คือ ยืน เดิน นั่ง จะไม่เอนตัวลงให้หลังสัมผัสพื้นเลย ถ้าง่วงมากก็จะใช้การนั่งหลับเท่านั้น เพื่อไม่ให้เพลิดเพลินในการนอน