คำตอบที่ 88
ทุดง!
กลางปีนี้เป็นเวลาครบรอบ 2,600 ปีของการค้นพบครั้งสำคัญของเจ้าชายสิทธัตถะ ที่เรียกว่า การตรัสรู้
หลังจากวันนั้นจนวันละสังขาร พระองค์ทรงเดินป่าเดินดงเทศนาสั่งสอนคนทั่วทุกสารทิศ
ชีวิตของพระองค์ผูกพันกับป่าดงอย่างแยกไม่ออก ประสูติกลางดินใต้ต้นสาละในป่าลุมพินี ตรัสรู้กลางดินใต้ต้นโพธิ์หรืออัสสัตถะแห่งเมืองพาราณสี ดับขันธุ์กลางดินใต้ต้นสาละแห่งเมืองกุสินารา
ที่หรือท่านพุทธทาสฯว่า เกิดใต้ต้นไม้ ตรัสรู้ใต้ต้นไม้ ตายใต้ต้นไม้
ใช้ชีวิตติดดงติดดินตลอดชีพ
เกิด-ตรัสรู้-ตายใต้ต้นไม้อาจเป็นเรื่องบังเอิญ หรืออาจเป็นเพียงสัญลักษณ์ หรืออาจเป็นทั้งสองอย่าง เราคงไม่รู้แน่
หากมองในเชิงสัญลักษณ์ ต้นไม้หรือป่าดงอาจมีความหมายของสภาพแวดล้อม ความเข้าใจธรรมชาติ นั่นคือการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เอื้อต่อการเข้าถึงธรรม
สภาพแวดล้อม ป่า ที่เหมาะสมนี้ขอเรียกว่า สุดง หรือป่าแห่งความดี ความเจริญ
สุดงยังมีความหมายถึงการอยู่ใกล้สัตบุรุษ การอ่านหนังสือดี การเดินทางที่ดี การใช้ความคิดที่ดี
หลักปรัชญาของพระพุทธองค์เรียบง่ายอย่างยิ่งคือ สอนให้คนเป็นอิสระจากการยึดติด หรือปล่อยวาง คำคำนี้ครอบคลุมทุกธรรมของพุทธ
ไม่ยึดติดทั้งวัตถุและจิตใจ
ไม่ยึดติดทางวัตถุคือไม่ปล่อยให้วัตถุมาครอบงำตน พูดง่ายๆ คือใช้วัตถุ ไม่ให้วัตถุใช้เรา
ไม่ยึดติดทางจิตคือไม่ปล่อยให้จิตก่อเกิดอารมณ์ หรือรับรู้การเกิดอารมณ์ของจิต รู้ทันตามทันการเปลี่ยนแปลงของจิตตลอดเวลา
เมื่อรู้ทันและไม่ยึดติด ก็ไม่ทุกข์ หรือหากเกิดทุกข์ขึ้นมาวูบใด ก็รู้ทันปล่อยให้มันสลายไปตามกฎแห่งธรรมชาติที่ว่าไม่มีอะไรยั่งยืนตลอดกาล
พุทธแท้จึงไม่ยึดติดกับอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรม ไปจนถึงรูปองค์ปฏิมา เพราะสาระอยู่ที่เนื้อใน ไม่ใช่เปลือก
พูดง่ายๆ คือการทำจิตให้เป็นอิสระสำคัญกว่าการสวด การภาวนา การทำบุญ การรดน้ำมนต์ การบูชาพระเครื่อง การกราบไหว้พระพุทธรูป ซึ่งเหล่านี้เป็นเพียงเปลือกที่ไร้แก่นสาร
การสวดเป็นเพียงอุบายหนึ่งในการโฟกัสจิต ส่วนพระเครื่อง พระพุทธรูปเป็นเพียงอิฐปูนวัตถุให้เราระลึกถึงพระธรรมของพระองค์ ไม่ใช่พาหนะสู่ความดับทุกข์
หลักสอนง่ายๆ แบบนี้อาจดูธรรมดาและจืดชืด ไม่มีสีสันโดยเฉพาะกับชาวไทยที่รักสนุก ชอบความหวือหวา ชอบเปลือกที่มีสีสันแปลกตา ชอบมองอะไรสั้นๆ แก้ปัญหาด้วยการทำบุญ หนีปัญหาด้วยการแก้กรรม
สภาพแวดล้อมแบบนี้เองคือ ทุดง หรือ ป่าแห่งความไม่ดี ไม่เจริญ
ใครที่หลงเดินใน ทุดง แบบนี้ก็คือการเดินออกห่างจากพุทธธรรม ซึ่งหลักการสำคัญคือการปล่อยวาง
ทางเซนจึงบอกว่า เมื่อเจอพระพุทธ ให้ฆ่าพระองค์เสีย
แค่คิดจะบรรลุธรรมก็ก้าวออกจากธรรมเรียบร้อยแล้ว
แค่คิดทำพิธีกรรมก็คือการเดินหนีห่างจากพุทธแท้แล้ว
เราสามารถแยกแยะพุทธแท้กับพุทธเทียมได้อย่างง่ายดายด้วยคำว่า การยึดติด
ทางสายไหนที่ทำให้เรายึดติดกว่าเดิม ไม่ว่าในรูปใด ตั้งแต่พิธีกรรมพิสดารไปจนถึงการกระตุ้นให้อยากขึ้นสวรรค์หรือโลกหน้าที่ดีกว่า ทางนั้นก็คือพุทธเทียม - ทุดง
ทางเดินไปสู่ธรรมของพระพุทธองค์เป็นทางใน ป่า ที่เมื่อเท้าสัมผัสดินก็เปื้อน ใบหน้าสัมผัสฝุ่นก็มอม ไม่ใช่ทางโรยด้วยกลีบกุหลาบหรือเครื่องปรุงแต่ง เป็นสายทางเรียบง่าย ธรรมดาสามัญ เท้าติดดิน จิตเหนือโลก
ธรรมดา ธรรมชาติ ธรรมวิถี