พุธ,1 มกราคม 2568
 
มีคนอ่านแล้ว 30860 คน [ Home ]
    


การปรับแต่งเครื่องบินเล็กตอนที่ 1
Control Neutrals, Control Throws, C.G, Wing Incidence
โดย คุณดุสิต

     การปรับ Trim เครื่องบินเล็กเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อให้เครื่องบินเล็กของเรามีคุณลักษณะการบินที่ดี แต่การทำการปรับ Trim ก็เป็นงานที่ค่อนข้างยากและ ค่อนข้างน่าเบื่อ การปรับTrim เครื่องบินอย่างถูกต้อง จะนำมาซึ่งคุณลักษณะ ในการบินที่ดี มีเครื่องบินเล็กเป็นจำนวนมากที่มีคุณลักษณะการบินที่ไม่ดีเพราะได้รับการปรับTrimมาไม่ดี ขอเวลา ปรับแต่งมันซักนิด ค่อยๆTrimไป แล้วคุณจะได้เครื่องบินที่บินได้ดีมาอยู่ในการควบคุมของคุณ
     เครื่องบินเล็กแต่ละแบบจะมีคุณลักษณะในการบินแตกต่างกันไปตามการออกแบบ เช่นเป็นเครื่องบินสำหรับฝึกสอน เครื่องบินผาดแผลง เครื่องบินScale เครื่องบิน Fun fly ฯลฯ เครื่องบินแต่ละชนิดก็มีข้อจำกัดในการบินที่ไม่เท่ากัน บางแบบอาจจะไม่สามารถทำท่าทางบินบางท่าได้ เช่นไม่สามารถRollได้ หรือไม่สามารถRoll 3รอบได้เป็นต้น ดังนั้นในการปรับแต่งเราต้องคำนึงถึงชนิดของเครื่องบินที่จะนำมาปรับแต่งว่ามีความสามารถในการบินได้ขนาดไหน จำเป็นต้องปรับแต่งด้านใดได้บ้าง ดังนั้นบางหัวข้อของบทความนี้อาจจะดูไม่จำเป็นสำหรับเครื่องบินบางแบบ
     เนื่องจากเป้าหมายของบทความนี้จะเน้นสำหรับเครื่องบินทั่วไปที่เราๆท่านๆใช้บินกัน หัวข้อไหนที่ดูซับซ้อนไป ก็ขอให้อ่านผ่านๆไปพอเป็นความรู้ไปแล้วกัน ขอให้นำเอาเฉพาะหัวข้อที่ต้องการไปทดลองใช้ดู
    การบินเพื่อทำการปรับแต่งจำเป็นต้องการนักบิน ที่มีความสามารถในการบินมากพอสมควรเพราะท่าทาง ในการบิน ในการปรับแต่งบางท่าต้องการนักบิน ที่มีความสามารถในการบินสูงพอสมควรและที่สำคัญ จำเป็นต้องมีผู้สังเกตการณ์ที่มี ประสพการณ์ในการบินมาคอยช่วยกันสังเกต อาการบินของเครื่องบิน ในขณะทำการทดสอบ เหตุผลหรือครับ ผมมี ความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งคือ นักบินมีหน้าที่บิน คนสังเกตการณ์มีหน้าที่สังเกตอาการบินของเครื่องบิน นักบินไม่ว่าจะเป็น ยอดมนุษย์ขนาดไหนก็ทำทั้งสองอย่างให้ได้ดีพร้อมกันไม่ได้ นักบินที่ดีจำเป็นต้องม ีNavigator ที่ดีไว้คอยสั่งหรือ คอยกำกับว่าตอนนี้ตอนนั้นจะต้องทำอะไร ต่อไปจะทำอะไร Navigator จะเห็นท้องฟ้าโดยรวม แต่นักบินจะเห็น ท้องฟ้าในกรอบแคบๆรอบๆตัวเครื่องบิน และที่สำคัญอีกอย่าง การปรับแต่งเพื่อให้ได้ผลถูกต้องทดสอบหลายครั้ง เพราะบางที่ผู้สังเกตการณ์ อาจจะมองไม่ทันหรือเห็นข้อแตกต่างไม่ชัด ดังนั้นในการบินเพื่อปรับแต่ง Trim ต้องการ ความพยายามและความอดทนของทุกๆคนมาก
      แน่นอนครับคุณต้องทำการบินเพื่อปรับแต่งในวันที่มีอากาศดีมากๆมีลมอ่อนๆท้องฟ้าแจ่มใส ส่วนเครื่องบิน ต้องอยู่ในสภาพที่ดี ถูกสร้างมาอย่างถูกต้องตามแบบ ไม่ว่าจะเป็นมุมเครื่องยนต์ มุมปีก มุมแพนหางระดับ CG.ระยะการเคลื่อนที่ของภาคบังคับต่างๆ ควรอย่างยิ่งต้องทำตามข้อกำหนดที่แจ้งไว้ในแบบการก่อสร้างหรือคู่มือ เรามาดูกันเป็นหัวข้อๆกันไปเลย

1.หัวข้อแรกที่เราจะพูดกันคือControl Neutrals          คิดว่านักบินที่มีประสบการณ์ในการบินพอสมควรคงจะทำกันได้ทุกคน การทำ Control Neutral คือการปรับ Trim ที่เครื่อง Transmitter เพื่อให้เครื่องบินสามารถบินรักษาระดับและบินเป็นแนวตรงได้ด้วยตัวของมันเอง [Hand-Off] แต่การปรับแต่งControl Neutral ไม่ได้จบที่การทำ Save Trim หรือ Memory Trim ที่ตัว Program ของ Transmitter ซึ่งเป็นสิ่งที่นักบินเครื่องบินเล็กส่วนใหญ่มักปฏิบัติกัน ซึ่งก็เป็นการกระทำที่ไม่ผิดแต่ที่ถูกต้องจริงๆ คือต้องปรับตัว Clevisesของภาคบังคับต่างๆเพื่อให้ Trimที่Transmitter กลับไปอยู่ที่ตรงกลางเหมือนเดิม ขอให้สังเกตการติดตั้งตัว Servo แขนของ Servo และตัวคันชักจากรูปข้างล่าง การติดตั้งที่ถูกต้องคือแขนของ Servo จะต้องตั้งฉากกับแนวแกนของตัวServo แขนของ Servo จะต้องสามารถเคลื่อนที่ไปทั้งสองด้าน เป็นมุมเท่าๆกัน และที่สำคัญแขนของServo กับตัวคันชักภาคบังคับจะต้องตั้งฉากกัน
      ถ้าเห็นว่าแนวแกนของแขนของ Servo กับแนวแกนของคันชักไม่ตั้งฉากกัน เราจะใช้ Sub trim เพื่อแก้ไข ดังนั้น ไม่ควรเปลี่ยนTrimของภาคบังคับนี้อีก เพราะการเปลี่ยนTrimจะทำให้มุมของ Servo arm กับแนวแกนของคันชัก ไม่ตั้งฉากกัน
      ดังนั้นเราจึงมีวิธีเดียวที่จะทำให้TrimของTransmitterกลับไปอยู่ตรงกลางได้คือต้องปรับที่Clevisesเท่านั้น ครับการทำControl Neutrals ที่เราเห็นว่าทำกันง่ายๆชักจะไม่ง่ายเหมือนที่คิด กว่าคุณจะปรับ Clevises ให้ Trim อยู่ตรงกลางได้ ผมว่าได้บินขึ้นบินลงเป็นสิบครั้ง
2.หัวข้อต่อมาก็เรื่องระยะการเคลื่อนที่ของภาคบังคับต่างๆ  [เครื่องบินจะต้องผ่านการทำการControl Neutrals มาแล้ว]
      เริ่มกันที่ Aileron กันก่อน นำเครื่องบินขึ้นบินโดยปรับระยะ การเคลื่อนที่ของ Aileron ตามที่กำหนดไว้ในแบบ หรือคู่มือบิน ให้สูงพอสมควรเผื่อเกิดผิดพลาด [แล้วสูงแค่ไหนละ...ฝรั่งเขาบอกไว้ว่าให้สูงพอ ที่จะทำผิดพลาด ได้สองครั้ง] ความเร็วของเครื่องบินต้องสูงพอสมควร ดึงหัวเครื่องบินให้เครื่องบินไต่ขึ้นเล็กน้อย ดันคันบังคับ Aileron ไปทางซ้ายหรือขวาก็ได้ ให้ดันให้สุด บังคับให้เครื่องบินทำRoll ให้ได้ 3 รอบ โดยที่ Low Rate จะใช้เวลาประมาณ 6 วินาที ที่ Hi Rate จะใช้เวลาประมาณ 3-4 วินาที พอเครื่องเริ่ม Roll คุณก็เริ่มบ่นตามนี้เลย หนึ่งครึ่ง สองครึ่ง สามครึ่ง สี่ครึ่ง ห้าครึ่ง หกครึ่ง ตามเวลาที่คุณต้องการ แล้วก็จะมีคนถามว่าถ้าปรับตามนี้ Aileronจะไม่ทำงานไวเกินไปหรือ ครับถ้าปรับแล้วการตอบสนองด้าน Aileron เร็วเกินไป เราจำเป็นต้องใช้ Function EXP ของตัว Transmitter เข้าช่วย ค่อยๆทดสอบป้อนค่า EXP จนสามารถบังคับเครื่องบินได้นุ่นนวลขึ้น [ ค่าEXP สำหรับเครื่องบินทั่วๆไป ที่สามารถ บินผาดแผลงได้ จะอยู่ประมาณ 0 ถึง -15 ] จะเห็นได้ว่าหน้าที่ของปุ่ม Dual Rate ที่ตัว Transmitter มีหน้าที่ ปรับขนาดการเคลื่อนที่ของภาคบังคับ ไม่ได้มีไว้ลดความไวของภาคบังคับตามที่คนส่วนมากในบ้านเรามักทำกัน เช่นพี่ๆเครื่องบิน Aileron มันไวจัง ท่านพี่ก็จะบอกว่า ก็ปรับไปที่ Low Rate ซี่ จะเห็นได้ว่านี้เป็นการใช้ปุ่ม Dual Rate ไปในทางที่ผิด สิ่งที่ควรจะทำคือปรับค่าEXP เพื่อลดความไวของการบังคับ ไม่ว่าจะอยู่ที่ High Rate หรือ Low Rate เครื่องบินควรมีการตอบสนองในการบังคับใกล้เคียงกัน

     Elevator ก็ทำการทดสอบคล้ายๆกับการทดสอบ Aileron โดยที่ Low Rate เครื่องบินต้องสามารถทำ Loop เป็นวงกลมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 45-50 เมตร [ก็ประมาณครึ่งสนามฟุตบอล] ที่Hi Rate ต้องสามารถทำ Square Corner ได้ เหมือนเดิมถ้าสังเกตว่าการตอบสนองด้าน Elevator เร็วเกินไปให้ใช้ EXP เข้าช่วย
    ส่วน Rudder ค่า Low Rate ต้องสามารถทำให้เครื่องบินสามารถบินท่า Knife edge ได้ ส่วนHi Rate [30-35 Deg.]เครื่องบินต้องสามารถทำท่า Stall Turn ได้
3. การตรวจสอบ CG [Center of Gravity]
วิธีที่1
      นำเครื่องบินทำการบินตามปกติ แล้วทำการเลี้ยวโดยใช้ Aileron พยายามเลี้ยวให้เครื่องบินเอียงปีกลึกมากที่สุด จนปีกเครื่องบินเกือบจะตั้งฉากกับพื้นดิน แล้วสังเกตอาการของเครื่องบินในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร
  • ถ้าหัวของเครื่องบินมีอาการตกลงขณะเครื่องบินทำการเลี้ยว แสดงว่าเครื่องบินหัวหนัก
  • ถ้าหางของเครื่องบินมีอาการตกลง แสดงว่าเครื่องบินหัวเบา
วิธีที่2
     ให้บินเครื่องบินในท่า Invert แล้วให้สังเกตอาการการบังคับทางด้าน Elevator ถ้าต้องดัน Down มากเพื่อให้ เครื่องบิน สามารถบินระดับ [Invert] ได้แสดงว่าเครื่องบินหัวหนัก ถ้าไม่ต้องดัน Down เลย เครื่องบินก็สามารถบิน ระดับ[Invert]ได้หรือเครื่องบินมีอาการบินไต่ขึ้นเล็กน้อยได้เองแสดงว่าเครื่องบินหัวเบา
     ทั้งสองวิธีเป็นวิธีมาตรฐานที่เขานิยมใช้ทดสอบแต่ก็ยังมีลักษณะอื่นๆให้สังเกตเพิ่มอีกหลายอย่าง เช่น
     ถ้าเครื่องบิน หัวหนักมากเกินไปเครื่องบินจะ Roll ได้ไม่ดี อาการRollของเครื่องบินจะดูคล้ายๆ Barrel Roll แทนที่จะเป็น Axial Roll ตามปกติ
     ถ้าเครื่องบินหัวเบามาก การบังคับเครื่องบินจะ Sensitive มาก เครื่องบินจะบังคับยาก หรืออาจจะบังคับไม่ได้เลย ไม่สามารถบังคับให้เครื่องบินบินระดับได้ โดยเฉพาะถ้ามีลมกระโชก เครื่องบินจะมีอาการแกว่งไปตามลม[Poor wind penetration] เครื่องบินจะบินเหมือนกับว่ามันไม่ค่อย Stable เครื่องบินมีอาการลอยขึ้น [Balloon] เมื่อบินทวนลม
4.มุม Incidence ของปีก
     ในเครื่องบินเล็กทั่วๆไป มุม Incidence ของปีกจะมีค่าเป็น+เล็กน้อย [เครื่องบินPattern จะมีค่าประมาณ +0.5 ถึง+1 องศา เครื่องบินทั่วๆไปก็ประมาณ+1 ถึง+3 องศา]
      วิธีการทดสอบให้บินสูงซักหน่อย และให้บินขวางลม เบาเครื่องยนต์มาที่ Idle บังคับเครื่องบินให้ทำVertical dive ให้เครื่องบินบินดำลงมาเป็นเส้นตรง ปล่อยคันบังคับให้เป็นอิสระ [โดยเฉพาะ Elevator ห้ามแตะต้อง] แล้วทำการสังเกตดูอาการของเครื่องบินขณะบินดำลงมา
  • ถ้าเครื่องบินยังบินดำลงมาเป็นเส้นตรง แสดงว่ามุมIncidenceของปีกมีค่าถูกต้องแล้ว
  • ถ้าเครื่องบินมีอาการเหมือนเราดึง UP [Pull out, nose up] แสดงว่ามุมIncidenceของปีกมีค่าเปิด มากเกินไป ให้ลดมุม Incidence ของปีกลงอีก
  • ถ้าเครื่องบินมีอาการเหมือนเราดัน DOWN [Tuck in, nose down] แสดงว่ามุมIncidenceของปีกมีค่าเปิดน้อยเกินไป ให้เพิ่มมุม Incidence ของปีกขึ้นอีก
     และยังมีลักษณะการบินอื่นๆที่สามารถสังเกตเห็นได้ในส่วนของเรื่อง Incidence เช่น
      ถ้ามุม Incidence เป็น + มากเกินไป ถ้าดึงเครื่องบินจากการบินดำ เพื่อให้เครื่องบินกลับมาอยู่ในแนวระดับ เครื่องบินจะมีอาการลอยขึ้นด้านบนหรือ ที่เรียกว่า Zoom upward หรือ เมื่อบินระดับด้วยความเร็วไม่สูงมาก แล้วดันคันเร่งให้เครื่องยนต์เร่งให้สุดทันทีทันใด ถ้าเครื่องบินมีอาการ Zoom upward ก็แสดงว่าเครื่องบินมีมุม Incidence ของปีกเป็น+ มากเกินไป หรือเมื่อบังคับเครื่องบินให้ทำการเลี้ยว เครื่องบินมีอาการ ไต่ขึ้นไปขณะเลี้ยว ก็แสดงว่ามุม Incidence ของปีกเป็น+มากเกินไป แต่ถ้าสังเกตเห็นว่าผลการทดสอบเป็นไปในทางตรงกันข้าม ก็แสดงว่ามุม Incidence มีค่าเป็น - มากเกินไป
     เป็นอันว่าจบเรื่องการปรับแต่งเครื่องบินเล็ก ตอนที่ 1 จริงๆแล้วผมก็เขียนไปเรื่อยๆประมาณว่า ได้เกินครึ่งของ หัวข้อเรื่อง ที่คิดว่าจะเขียน พอกลับมาดูขนาดของ File ที่เขียนไปแล้วตกใจมาก ขนาดมันเกือบ 3M ถ้าเขียนจนจบ สงสัยจะถึง 5M เลยต้องหาทางตัดออกเป็นส่วนๆแบบนี้ละครับ ไปละครับ

 


Home | Bicycle | Offroad | Fishing | Radio Control | GPS Conner | Second hand | Member area
Copyright © 2000, www.WeekendHobby.com, All right reserved.

Contact Webmaster